คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9650-9651/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1เป็นผู้อำนวยการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในขณะเดียวกันจำเลยที่1ก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วยและยังต้องปฏิบัติหน้าที่การงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ส่วนจำเลยที่2ที่3และที่4เป็นลูกจ้างโจทก์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับสินค้ามีหน้าที่ไปตรวจรับสินค้าว่ามีการซื้อขายตามจำนวนประเภทและราคาสินค้านั้นถูกต้องตรงตามสัญญาซื้อขายกันหรือไม่การที่จำเลยที่1มีคำสั่งให้คณะกรรมการตรวจรับที่โจทก์ตั้งขึ้นตรวจรับสินค้าตามหลักฐานเอกสารที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไปถูกต้องแล้วพิจารณาจ่ายเงินให้ผู้ขายสินค้าไปและวิธีปฏิบัติตามที่จำเลยที่1กำหนดขึ้นก็ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยการรับเงินการจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงินพ.ศ.2528ของโจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่2ที่3และที่4เป็นคณะกรรมการตรวจรับไม่เคยไปตรวจรับสินค้าคงตรวจแต่เอกสารการรับมอบแม้จะเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่1จำเลยที่2ที่3และที4ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแต่จำเลยที่2ที่3และที่4ยังปฏิบัติตามจึงเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่รักษาประโยชน์ของโจทก์เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงและต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วย จำเลยที่2และที่3มิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์เมื่อมีการสอบสวนทางวินัยก็ปรากฏว่าจำเลยที่2และที่3กระทำผิดทางวินัยคำสั่งของโจทก์ให้พักงานจำเลยที่2และที่3จึงมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่2และที่3การที่โจทก์มีคำสั่งลงโทษจำเลยที่2ด้วยการพักงานและลดขั้นเงินเดือนจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์แล้ว จำเลยที่3ทำผิดวินัยโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายการที่จำเลยที่3ต้องเกษียณอายุหรือถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่3 ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งแปดผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องบังคับใช้ตามอายุความทั่วไปมีกำหนด10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/30จำเลยที1ถึงที่4ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการผิดสัญญาในระหว่างปี2532ถึง2533แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่6สิงหาคม2536ยังไม่เกิน10ปีฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่2ที่3และที่4อุทธรณ์ว่าจำเลยที่1ประนีประนอมยอมความหนี้กับโจทก์แล้วจำเลยที่2ที่3ที่4จึงไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมาว่าไม่มีการประนีประนอมยอมความในหนี้แต่อย่างใดต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อในคำให้การจำเลยที่1มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่อุทธรณ์ขึ้นมาอุทธรณ์ของจำเลยที่1จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้ปฏิบัติงานถูกต้องตามคำสั่งจำเลยทุกประการ แต่จำเลยกล่าวหาโจทก์ว่าปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อและผิดวินัยแล้วตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์พร้อมกับสั่งพักงานโจทก์ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงาน โดยลดขั้นเงินเดือนจากเดิมและมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำผิดใด ๆ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 416,372.18 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกเลิก เพิกถอน หรือทำลายคำสั่งคณะกรรมการบริหารกิจการของจำเลยเฉพาะในส่วนที่จะให้โทษหรือความเสียหายใด ๆซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะ เงินเดือน ค่าจ้างและความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลย และพิพากษาว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือความเสียหายใด ๆ แก่จำเลยทั้งสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการคลังและด้านการตลาด โจทก์สมคบร่วมกับบุคคลภายนอกหรือกระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน19,590,933 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการตรวจรับสินค้ารวม 4 ครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้ตรวจรับสินค้า คงตรวจรับจากเอกสารเท่านั้น ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง การที่จำเลยมีคำสั่งให้ลดเงินเดือนโจทก์ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวการที่โจทก์เกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้างและโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนเงินบำเหน็จนั้นเนื่องจากโจทก์กระทำความเสียหายให้แก่จำเลย และตามระเบียบจำเลยมีสิทธิหักเงินดังกล่าวชดใช้จนกว่าจะครบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและมติคณะกรรมการของโจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ได้จัดทำโครงการซื้อขายกุ้งกุลาดำและปลาขึ้นโดยมิชอบ เพื่อแทรกแซงตลาดช่วยเหลือเกษตรกร โดยสมคบกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งขึ้นให้เป็นกรรมการตรวจรับสินค้าทำการตรวจรับสินค้าดังกล่าว โดยไม่มีการตรวจรับกันจริง และมีบุคคลภายนอกร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จว่ามีการขายและซื้อกุ้งกุลาดำจากโจทก์ โดยเสนอขอซื้อจากโจทก์ในราคาสูงกว่าที่โจทก์ซื้อมาแต่โจทก์ต้องชำระเงินสดส่วนผู้ซื้อจากโจทก์จะชำระราคาได้ภายใน6 เดือน โดยไม่เรียกหลักประกันตามระเบียบ ความจริงไม่มีการขายหรือซื้อกุ้งดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นเหตุให้มีการนำเงินที่รับจากโจทก์ไปแบ่งปันหมุนเวียนหาผลประโยชน์กันหลายครั้งในการจ่ายเงินก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยงระเบียบและคำสั่งของโจทก์โดยกรณีที่ต้องจ่ายเงินเกิน 500,000 บาท ซึ่งเกินอำนาจของจำเลยที่ 1ก็จ่ายโดยแบ่งเป็นหลายครั้ง ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาทการกระทำของจำเลยทั้งแปดทำให้โจทก์เสียหายต้องจ่ายเงินไปและได้รับคืนมาบางส่วน รวมต้นเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเงินทั้งสิ้น 23,934,977.70 บาท ซึ่งจำเลยทั้งแปดต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งแปดเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 รวมทั้งบุคคลอื่นกระทำทุจริต จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 และที่ 8 ให้การว่า จำเลยแต่ละคนไม่ได้กระทำการทุจริต ประมาทเลินเล่อ หรือประพฤติผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์หรือสมคบกับผู้ใดกระทำความเสียหายแก่โจทก์ การปฏิบัติงานของจำเลยแต่ละคนได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งของโจทก์และตามสัญญาจ้างทุกประการ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ อีกทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 ไม่ได้กระทำผิดสัญญาจ้างหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งมิได้กระทำการทุจริตหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้อง จำเลยที 7ปฏิบัติหน้าที่ไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือของโจทก์นั่นเองฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที 7 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์ก็ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ดังนี้ ตามฟ้องข้อ 3(ก)(ง) และ (ฉ) ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที 4 ชำระเงินจำนวน 4,623,817.49 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน3,769,333 บาท นับจากวันฟ้องคือวันที่ 6 สิงหาคม 2536 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามฟ้องข้อ 3 (ข) และ (จ) ให้จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ชำระเงินจำนวน 10,243,256.20 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน8,461,200 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามฟ้องข้อ 3 (ช) ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4ชำระเงินจำนวน 6,690,937.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 5,490,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามฟ้องข้อ 3(ค) ให้จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 2,376,966.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 1,870,400 บาทนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะเงินในส่วนจำเลยที่ 2 และที 3 ที่จะต้องชำระแก่โจทก์นั้นให้หักเงินจำนวน227,520 บาท และจำนวน 112,560 บาท ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3มีสิทธิขอหักหนี้กับโจทก์ออกด้วย คดีส่วนจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีหมายเลขดำที่ 2083/2536) นอกจากในส่วนเงินที่มีสิทธิได้รับและขอหักหนี้กับโจทก์ดังกล่าวกับคดีในส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 3 ว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน กระทำผิดวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ตั้งใจปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับและมติคณะกรรมการของโจทก์ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ ทั้งกระทำและยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน23,934,977.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จฟ้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงที่ 8ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมกันกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงเห็นว่า เป็นฟ้องที่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที 4 ผิดสัญญาจ้างหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้อำนวยการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ในขณะเดียวกันจำเลยที 1 ก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ด้วย และยังต้องปฏิบัติหน้าที่การงานภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกจ้างโจทก์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับสินค้ามีหน้าที่ไปตรวจรับสินค้าว่ามีการซื้อขายตามจำนวนประเภท และราคาสินค้านั้นถูกต้องตามสัญญาซื้อขายกันหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดวิธีการซื้อขายกุ้งและปลาโดยให้ผู้ขายและผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์ไปส่งมอบและตรวจรับสินค้ากันเอง แล้วให้ผู้ขายนำหลักฐานการส่งมอบไปขอรับเงินจากโจทก์นั้น จะรับเงินได้เมื่อมีการตรวจรับสินค้าว่าถูกต้องตรงตามจำนวนและคุณภาพตามราคาสินค้าดังกล่าวก่อน จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจรับสินค้า ซึ่งคณะกรรมการจะต้องไปตรวจดูสินค้ากันจริง มิใช่เพียงแต่ตรวจเอกสารการรับมอบของผู้ซื้อเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ก่อนที่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย โจทก์ต้องตรวจสอบสินค้าว่ามีปริมาณและน้ำหนักของสินค้าถูกต้องตรงตามที่ซื้อหรือไม่ หากไม่ถูกต้องโจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่รับซื้อ ส่วนโจทก์ในฐานะผู้ขายย่อมต้องรับผิดต่อผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์ในความสูญหายหรือชำรุดบกพร่องเสียหายของสินค้าการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้คณะกรรมการตรวจรับที่โจทก์ตั้งขึ้นตรวจรับสินค้าตามหลักฐานเอกสารที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไปถูกต้องแล้วพิจารณาจ่ายเงินให้ผู้ขายสินค้าไปจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่สุจริตสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาว่าได้มีการส่งมอบและรับมอบกุ้งหรือปลากันถูกต้อง ความจริงไม่มีการส่งมอบสินค้าดังกล่าวเลย หลักฐานการส่งมอบและรับมอบกุ้งหรือปลา ผู้ขายและผู้ซื้อก็มิได้กระทำต่อหน้าคณะกรรมการตรวจรับผู้ซื้ออาจจะปฏิเสธลายมือชื่อก็ได้ และวิธีปฏิบัติตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นดังกล่าวก็ขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงินและการเก็บรักษาเงิน พ.ศ. 2528 ของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 30ที่กำหนดไว้ว่า การที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินซึ่งหมายความรวมถึงการซื้อกุ้งและปลาเพื่อพยุงราคาอันเป็นกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์และอำนาจของโจทก์ด้วย จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และต้องตั้งคณะกรรมการตรวจรับตรวจความถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงดำเนินการจ่ายเช็คให้แก่ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้เห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แม้คณะกรรมการบริหารของโจทก์จะรับทราบเรื่องของการกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อซื้อกุ้งกุลาดำตามโครงการที่จำเลยที่ 1 เสนอต่อที่ประชุม แต่คณะกรรมการก็รับทราบวิธีการซื้อขายเท่านั้น หาได้มีมติยอมให้คณะกรรมการตรวจรับไม่ต้องไปตรวจรับกุ้งที่ส่งมอบแต่อย่างใดไม่ และคณะกรรมการจะมีมติเช่นดังกล่าวนั้นไม่ได้ เพราะขัดต่อข้อบังคับเอกสารหมายจ.3 ข้อ 30 ที่กล่าวแล้วข้างต้น ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือในนามโจทก์ขอหารือกระทรวงการคลังว่ามีอำนาจดำเนินการตามโครงการดังกล่าวหรือไม่นั้น กระทรวงการคลังได้ตอบข้อหารือเพียงว่าเป็นเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจปกติของโจทก์ที่คณะกรรมการของโจทก์เป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบอำนาจของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การโจทก์ กระทรวงการคลังหาได้ตอบข้อหารือจำเลยที่ 1 โดยตรงว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจดำเนินการตามโครงการได้หรือไม่ สำหรับกรณีที่โจทก์เคยซื้อข้าวสารจากเอกชนขายให้โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐโดยคณะกรรมการของโจทก์ตรวจรับจากเอกสารนั้นก็เป็นการปฏิบัติไม่ชอบตามข้อบังคับเช่นกัน แต่กรณีดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการตรวจรับข้าวสารของเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลซึ่งเป็นข้าราชการมีระเบียบวินัยบังคับไว้ และไม่เกิดความเสียหายขึ้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุจะอ้างให้พ้นความรับผิดได้ จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับไม่เคยไปตรวจรับสินค้าคงตรวจแต่เอกสารการรับมอบ แม้จะเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบแต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังปฏิบัติตาม จึงเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่รักษาประโยชน์ของโจทก์ เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่าการที่โจทก์สั่งพักงานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อสอบสวนเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับกุ้งและปลามิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ เมื่อมีการสอบสวนทางวินัยก็ปรากฎว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 กระทำผิดทางวินัย คำสั่งของโจทก์พักงานจำเลยที่ 2และที่ 3 จึงมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์มีคำสั่งลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วยการพักงานและลดขั้นเงินเดือนจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของโจทก์แล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ปรากฏว่าทำผิดวินัยโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 ต้องเกษียณอายุหรือถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จำเลยที่ 3
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะต้องรับผิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2536 พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 เป็นลูกจ้างโจทก์ ในการบริหารงานของโจทก์โจทก์มีกฎหมายระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งให้พนักงานและลูกจ้างปฏิบัติตาม อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กล่าวหาว่าจำเลยทั้งแปดร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้าง ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและมติคณะกรรมการของโจทก์ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์และกระทำการหาผลประโยชน์ในหน้าที่การงานของจำเลยทั้งแปดอันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งแปดผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องบังคับใช้ตามอายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการผิดสัญญาในระหว่างปี 2532 ถึง 2533 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม2536 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ประนีประนอมยอมความหนี้กับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 จึงไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่าไม่มีการประนีประนอมยอมความในหนี้แต่อย่างใด ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์อีกว่า จำเลยที่ 1 ทำการซื้อขายกุ้งกุลาดำกับลูกค้าในฐานะตัวแทนโจทก์ ทั้งโจทก์ได้รับเอาประโยชน์อันเกิดจากการซื้อขายมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการให้สัตยาบันแล้ว สัญญาซื้อขายจึงผูกพันโจทก์กับลูกค้าผู้ซื้อหรือผู้ขายสินค้า ส่วนจำเลยที่ 1หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ในคำให้การจำเลยที่ 1มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share