แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แถบบันทึกเสียงเป็นพยานวัตถุ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องถอดข้อความหรือจะต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นที่บันทึกในแถบบันทึกเสียงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบก็ชอบที่จะถามค้านพยานโจทก์ไว้แม้จำเลยจะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของพยานจำเลยและเมื่อเปิดฟังแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความตรงตามคำถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงก็ยังไม่พอฟังเป็นยุติได้เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อหรือดัดแปลงลอกเลียนเสียงได้ไม่ยากนัก สัญญาตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด และสัญญามีอายุ3 ปี เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้รับจ้างจะมีรายได้เป็นรายปีเริ่มตั้งแต่ปีแรก ส่วนการกำหนดวิธีการที่จะทำให้มีรายได้เป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเมื่อไม่ดำเนินการก็ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และสัญญาดังกล่าวเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 การบอกเลิกสัญญาจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์แสดงภาพยนตร์ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยการแสดงภาพยนตร์โจทก์สามารถกระทำได้เพราะไม่มีข้อห้ามของสัญญา แต่การที่โจทก์ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นข้อห้ามของสัญญาและกำหนดเบี้ยปรับไว้ด้วย โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เมื่อจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนโจทก์ต้องชดใช้เบี้ยปรับให้จำเลยเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีศาลฎีกาจึงหักหนี้กันโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ขับร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยตกลงทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด(1 ตลับ) มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี จำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงิน 25,000 บาท สำหรับการร้องเพลงบันทึกเสียง1 ชุด และเมื่อจำเลยนำแถบบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายถ้าเพลงที่ขับร้องออกจำหน่ายไม่เกิน 30,000 ตลับ จำเลยจะให้ค่าตอบแทนตลับละ 2 บาท ในส่วนที่เกินโดยห้ามมิให้โจทก์ขับร้องเพลงให้แก่ผู้อื่นด้วย นับแต่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์แล้วจนเวลาล่วงเลยมากกว่า 1 ปี จำเลยไม่เคยให้โจทก์ขับร้องเพลงบันทึกในแถบบันทึกเสียงทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจำเลยได้ติดต่อโจทก์หลายครั้งให้มาขับร้องเพลง โจทก์กลับอ้างต่อจำเลยว่า ขอไปศึกษาต่อต่างประเทศก่อนหลังจากนั้นได้ย้ายภูมิลำเนาและหลบเลี่ยงการติดต่อกับจำเลยนอกจากนี้ยังไปขับร้องเพลงให้บุคคลภายนอกและแสดงคอนเสิร์ตต่อสาธารณชนหลายครั้งโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายและเบี้ยปรับเป็นเงิน 3,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยติดต่อให้โจทก์ไปขับร้องบันทึกเสียงโจทก์ไม่เคยหลบเลี่ยงเมื่อพ้นระยะเวลา1 ปี แล้วจึงได้มีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโจทก์ไปขับร้องเพลงกับบุคคลภายนอกหลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและเบี้ยปรับให้จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน125,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงในส่วนของฟ้องโจทก์ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2533โจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลย มีนายชัยพร จิรจิตโกศลกับนางสาวทัศนีย์ อรุณเกียรติกุล ลงชื่อในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลย เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ร้องเพลง โดยมีกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขแห่งข้อสัญญาปรากฏในเอกสารหมาย ล.7(ซึ่งตรงกับสำเนาหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.11) เมื่อครบกำหนด1 ปี จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ร้องเพลงและมิได้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาแก่โจทก์ ในระหว่างระยะเวลา1 ปี ดังกล่าว โจทก์แสดงภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือสามหนุ่มสามมุมและกลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ โดยมีเพลงประกอบภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 3 แพลง และภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนั้นผู้อื่นจัดทำและแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในทางการค้า มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ และโจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่เพียงใดจำเลยฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ยอมร้องเพลงที่จำเลยดำเนินการว่าจ้างให้ผู้อื่นประพันธ์เนื้อร้องทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานอยู่ โดยโจทก์ บิดาและมารดาโจทก์มาพบนายชัยพรผู้จัดการบริษัทจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ทำสัญญาเพียง 4 เดือน นายชัยพรได้บันทึกเสียงพูดคุยไว้ในแถบบันทึกเสียงหมาย ล.8 ซึ่งถอดข้อความตามเอกสารหมาย ล.9สำหรับเรื่องนี้โจทก์นำสืบว่า ไปพบนายชัยพรพร้อมกับนายกฤษณ์และนางบุษฎีจริง เพื่อบอกจำเลยว่าโจทก์จะเดินทางไปต่างประเทศ แต่เป็นเวลาภายหลังจากทำสัญญาครบ 1 ปีแล้วโดยที่จำเลยไม่มีงานร้องเพลงให้โจทก์ร้องตามที่ระบุไว้ในสัญญา พยานโจทก์จำเลยต่างยันกันอยู่ ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่ฝ่ายใดนำสืบนั้น เห็นว่า แถบบันทึกเสียงหมาย ล.8 เป็นพยานวัตถุแม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องถอดข้อความหรือจะต้องนำเข้าถามค้านพยานอีกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพยานได้กล่าวถ้อยคำเช่นที่บันทึกในแถบบันทึกเสียงจริงหรือไม่ แต่การที่จะให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่จำเลยประสงค์จะนำสืบก็น่าจะได้นำเข้าถามค้านพยานโจทก์โดยการเปิดเสียงเพื่อให้พยานโจทก์ที่จำเลยอ้างว่าได้บันทึกเสียงไว้ รับรองหรือปฏิเสธเสียงนั้นหรือข้อความนั้นว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้จำเลยจะอ้างส่งประกอบคำเบิกความของนายชัยพรพยานจำเลยและเมื่อเปิดฟังแถบบันทึกเสียงนั้นแล้ว จะมีข้อความดังคำถอดข้อความเอกสารหมาย จ.9 ที่อ้าง ก็ยังไม่พอฟังเป็นยุติได้เพราะการบันทึกเสียงในแถบบันทึกเสียงอาจมีการตัดต่อหรือดัดแปลงลอกเลียนเสียงได้ไม่ยากนัก ดังนั้น จำเลยจะอาศัยพยานหลักฐานในแถบบันทึกเสียงและคำถอดข้อความดังกล่าวมาสนับสนุนพยานหลักฐานอื่นของจำเลยโดยพยานโจทก์ไม่ได้ฟังข้อความในแถบบันทึกเสียงและไม่ได้ยอมรับคำถอดข้อความที่จำเลยอ้างนั้นว่าเป็นข้อความที่บันทึกไว้ในวันเดือนปีใดและมีข้อความเช่นนั้นจริงหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานโจทก์จำเลยยันกันอยู่จึงชอบแล้วข้ออ้างตามฎีกาจำเลยที่ว่าได้เตรียมเนื้อร้องและทำนองเพลงไว้ให้โจทก์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์2534 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ทำสัญญาตามเอกสารหมาย ล.7(จ.11) เพียง 4 เดือน และเหตุที่ต้องหยุดงานไว้ก่อนเพราะโจทก์และบิดามารดาโจทก์มาบอกว่าโจทก์จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศจึงคงมีแต่คำเบิกความของนายชัยพรเท่านั้นส่วนพยานจำเลยคนอื่นก็เป็นพยานบอกเล่าไม่อาจสนับสนุนคำเบิกความของนายชัยพร คงฟังได้เพียงว่าภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากทำสัญญาแล้วนั้น จำเลยไม่มีเพลงให้โจทก์ร้องแต่อย่างใดส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่อาจติดต่อโจทก์ได้เพราะโจทก์ย้ายที่อยู่นั้น ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.7 (จ.11)ไม่ได้กำหนดว่าหากฝ่ายใดย้ายที่อยู่จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบแม้โจทก์ย้ายที่อยู่จริงก็ไม่พอแสดงว่าย้ายเพื่อจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ต่อจำเลย ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่า การที่สัญญาตามเอกสารหมาย ล.7 (จ.11)ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ผู้ว่าจ้าง (จำเลย) ตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างร้องเพลงบันทึกเสียงเพื่อการค้าโดยทำเพลงอย่างน้อยปีละ 1 ชุด และสัญญามีอายุ 3 ปี ตามข้อ 6 จะถือได้หรือไม่ว่าการที่จำเลยไม่มีเพลงให้โจทก์ร้องในปีแรกเป็นการผิดสัญญาอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ พิเคราะห์สัญญาตามเอกสารหมาย ล.7 (จ.11) แล้วเห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนผู้รับจ้างจะมีรายได้เป็นรายปีเริ่มตั้งแต่ปีแรก ส่วนการกำหนดวิธีการที่จะทำให้มีรายได้เป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จนล่วงเลยระยะเวลาของปีแรกก็ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว แม้จำเลยจะได้ว่าจ้างให้ผู้ประพันธ์เนื้อร้องทำนองเพลงเพื่อให้โจทก์ร้องแต่ก็ยังไม่ครบจำนวนที่ตกลงไว้ และนายชัยพรพยานจำเลยก็ได้ตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หากไม่ครบ 10 เพลงหรือ 1 ชุดก็จะไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ให้โจทก์ แม้จะฟังว่าจำเลยเตรียมเนื้อร้องและทำนองเพลงไว้แต่มิได้ดำเนินการจนกระทั่งโจทก์มีรายได้หรือผลประโยชน์ตามสัญญา เมื่อไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์ไม่ยอมร้องเพลงที่ฝ่ายจำเลยเสนอให้ร้องแต่กลับฟังว่าฝ่ายจำเลยไม่มีเพลงครบ 1 ชุด ให้โจทก์ร้องภายในกำหนดเวลา 1 ปีแรก โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้เป็นกรณีที่วัตถุประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้จะเป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ณ เวลามีกำหนดก็ดีหรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลาหรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้มิจำต้องบอกกล่าว ฯลฯ” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ข้อที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติก่อนจึงจะเลิกสัญญาได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นนี้ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ฝ่ายโจทก์ผิดสัญญาโดยการร้องเพลงให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างอายุสัญญาหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันคือ ก่อนที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมายจ.1, จ.3 และ จ.12 นั้น โจทก์ได้แสดงภาพยนตร์ 2 เรื่องคือ สามหนุ่มสามมุม ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้2 เพลง คือเพลงสามหนุ่มสามมุมและเพลงเดินเรื่อยเปื่อยกับภาพยนตร์เรื่องกลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์ 1 เพลงคือเพลงพรุ่งนี้เป็นวันของเรา แม้การแสดงภาพยนตร์ดังกล่าวไม่มีข้อห้ามระบุไว้ในสัญญาตามเอกสารหมาย ล.7 (จ.11) จึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ แต่เพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ซึ่งโจทก์ขับร้องนั้นมีลักษณะเป็นแถบบันทึกภาพและเสียงตามความหมายในสัญญาเอกสารหมาย ล.7(จ.11) ข้อ 3 ซึ่งมีข้อห้ามและได้กำหนดเบี้ยปรับไว้ด้วยในข้อ 7 แห่งสัญญาที่ระบุว่า ในระหว่างอายุสัญญานี้ผู้รับจ้างจะไม่ทำการขับร้องเพลงให้กับบุคคลอื่นใดในลักษณะวิธีการและหลักการที่ตกลงกับผู้จ้าง หากผิดสัญญายอมให้ผู้ว่าจ้างปรับเป็นเงินเพลงละ 1,000,000 บาท เมื่อภาพยนตร์ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าวได้นำออกแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในทางการค้าจึงถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาต่อจำเลยแล้ว
ปัญหาต่อไปคือโจทก์จะต้องรับผิดชอบเพียงใดนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 บัญญัติว่า”ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายมิใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ฯลฯ” เมื่อคำนึงถึงว่าผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับตามสัญญามีเพียงจำนวนเงิน25,000 บาท ต่อการร้องเพลง 1 ชุด (10 เพลง) และหากการจำหน่ายแถบบันทึกเสียงที่โจทก์ขับร้องนี้เกินกว่า 30,000 ตลับจำเลยจะชำระเงินแก่โจทก์ในอัตรา 2 บาท ต่อตลับ จากจำนวนแถบบันทึกเสียงที่จำหน่ายเกินจำนวนดังกล่าวตามที่ปรากฏในสัญญาเอกสารหมาย ล.7 (จ.11) ข้อ 1 และข้อ 5ดังนั้นที่กำหนดเบี้ยปรับไว้เพลงละ 1,000,000 บาท จึงสูงเกินส่วนศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เพลงละ 100,000 บาท รวม 3 เพลงเป็นเงิน 300,000 บาท ฎีกาจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้นบางส่วนซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในส่วนนี้ด้วย
อนึ่ง ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ต้องชดใช้เบี้ยปรับจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงหักหนี้กันโดยให้มีผลนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยเมื่อหักหนี้กันแล้วโจทก์ต้องชำระเงินให้จำเลย 275,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 275,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย