คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6749/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันถึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) การที่ผู้ร้องอ้างและนำสืบด้วยพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงนอกจากสัญญาค้ำประกันเป็นการเพิ่มเติมเอกสารสัญญาค้ำประกันจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง สัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้มีข้อความว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเป็นผู้สาบสูญหรือตาย หรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยหาตัวไม่พบ หรือกรณีอื่นใดที่ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วนผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหมายความว่าผู้ร้องยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้มีข้อความว่าลูกหนี้จะผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายเดือนก็มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 มิใช่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33เพราะมิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนซินเซียร์ทรัสต์ จำกัด ผู้ล้มละลายเด็ดขาดในการจัดการทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งความให้ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จผู้ร้องปฏิเสธหนี้ไปยังผู้คัดค้าน ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่ผู้คัดค้านยืนยันหนี้เพราะบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดที่ผู้ร้องค้ำประกันได้ชำระหนี้แก่ผู้ล้มละลายไปครบถ้วนแล้วและผู้คัดค้านอาจบังคับเอาจากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุนจำกัดก่อนตามข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับกรรมการของผู้ล้มละลายและหนี้ต้นเงินเป็นการแบ่งชำระเป็นคราว ๆ มีจำนวนแน่นอนหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกเป็นโมฆะขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของผู้ล้มละลาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2527และสัญญาจำนำใบหุ้นของบริษัทบางกอกฮิลตันโฮเต็ล จำกัด(บริษัทเอแอนด์บีโฮเต็ล จำกัด) จำนวน 5,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับจากวันที่ 6 มิถุนายน 2529จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องต่อมาที่ว่าผู้ร้องจะขอให้ผู้คัดค้านบังคับชำระหนี้จากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ก่อนได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า มีข้อตกลงนอกเหนือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ร.2 ว่า หากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือเมื่อได้ดำเนินการบังคับคดีแล้วได้ทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ผู้ร้องจึงจะชำระหนี้แทนนั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) ข้อตกลงที่ผู้ร้องอ้างและนำสืบด้วยพยานบุคคลเป็นการเพิ่มเติมเอกสารสัญญาค้ำประกันจึงต้องห้ามมิให้รับฟังฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันมิใช่รับผิดร่วมกับบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด จึงมีสิทธิที่จะขอให้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ชำระหนี้ก่อนอีกทั้งบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ยังประกอบกิจการและมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ และการที่จะบังคับให้ชำระหนี้ไม่เป็นการยาก เห็นว่าสัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้กับผู้ล้มละลายตามเอกสารหมาย ร.2 ข้อ 3 มีความว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้สาบสูญ หรือตายหรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยหาตัวไม่พบ หรือกรณีอื่นใดที่ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้ย่อมมีความหมายว่า ผู้ร้องยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด เหตุนี้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ผู้คัดค้านเรียกให้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ชำระหนี้ก่อนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องต่อไปมีว่า สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ร.1 มีอายุความ 10 ปีหรือ 5 ปี เห็นว่า แม้สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ร.1ตลอดจนสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ร.2 และตารางการผ่อนชำระหนี้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อความว่า ผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายเดือน แต่เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 มิใช่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 เพราะมิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ดังที่ผู้ร้องฎีกา”
พิพากษายืน

Share