คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6303/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทซึ่งฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้เถียงการครอบครองกันอยู่เป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก และต้นไผ่ ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทเป็นไม้ยืนต้นแม้โจทก์จะเป็นผู้ปลูกก็เป็นส่วนควบของที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ประธานเท่ากับโจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ด้วยการที่จำเลยที่2เข้าไปตัดฟันต้นไผ่ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของตนเช่นกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่ดินบางส่วนทางทิศใต้ของที่ดินซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองตาม ส.ค.1 เลขที่ 29 หมู่ที่ 12ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก วันที่ 24เมษายน 2534 และวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2บุกรุกเข้าไปตัดฟันต้นไผ่ ของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์ได้รับความเสียหายจำนวน 8 กอ เป็นเงิน 16,000 บาท และวันที่24 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกปักเสาสร้างรั้วในที่ดินบางส่วนของโจทก์ทางทิศใต้อีก การกระทำของจำเลยทั้งสองเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่บางส่วนและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขเหตุเกิดที่ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายกขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 363, 365, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาทำให้เสียทรัพย์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 362 ให้จำคุก6 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 362 กระทงหนึ่ง และมาตรา 362, 358เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 358 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกสองกระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ลงโทษตามมาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 362 จำคุก 6 เดือน ปรับ2,000 บาท ตามมาตรา 358 จำคุกกระทงละ 3 เดือน ปรับกระทงละ1,000 บาท รวมเป็นจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองได้สร้างรั้วในที่พิพาท ที่พิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 126/50 หมู่ที่ 12ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยนางเริง คงสุขมารดายกให้จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกบ้าน ทำนาทำสวน และสร้างรั้วตามแนวเขตที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 126/50 หมู่ที่ 12 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายกจังหวัดนครนายก เอกสารหมาย ล.3 โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทนั้น โจทก์นำสืบอ้างว่าเดิมที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่านายบุญ คำอาษา บิดาโจทก์เป็นผู้แจ้งการครอบครองแสดงความเป็นเจ้าของตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.1เนื้อที่ดิน 2 งาน มีอาณาเขตทิศใต้จดภูเขา ทิศเหนือทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดที่ดินนางเริง ไม่ระบุนามสกุล บิดาโจทก์ยกที่พิพาทให้โจทก์ 20 ปีมาแล้ว โจทก์ได้ครอบครองต่อโดยปลูกขนุนมะม่วง กระท้อน ส้มโอ และกอไผ่ โจทก์นำผลผลิตจากต้นไม้ดังกล่าวไปขายเป็นเวลาประมาณ 10 ปีแล้ว นายอดิศักดิ์ ฟ้าหทัย และนายสุพัด อโนดาษคนในหมู่บ้านเดียวกับโจทก์และจำเลยทั้งสองเบิกความว่า นายอดิศักดิ์มาซื้อผลไม้จากโจทก์ทุกปี โดยนายสุพัดเป็นผู้รับจ้างเก็บผลไม้ให้นายอดิศักดิ์ นายทองสุข คำกลางบุคคลดีเด่นแห่งจังหวัดนครนายก นายแสวง บุญเฉลียวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน และนายสวงค์ เลาหะพานิชกำนันตำบลสาริกาและประธานกรรมการหมู่บ้าน พยานโจทก์เบิกความเป็นทำนองเดียวกันว่า เห็นโจทก์และครอบครัวปลูกต้นมะม่วง ไผ่ตงกระท้อนและอีกหลายอย่างในที่พิพาท ในเดือนธันวาคม 2533เกิดกรณีพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองไปแจ้งนายสวงค์ในฐานะกำนันให้มาไกล่เกลี่ย นายสวงค์ได้เชิญนายแสวงและนายสี ศรีคร่ำคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีนายทองสุขเป็นพยานด้วยผลการเจรจาตกลงกันได้ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 เห็นว่า ตามแผนที่เอกสารหมายจ.6 ไม่มีข้อความอธิบายไว้เลยว่าแนวเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองอยู่ตรงไหน โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันอย่างไรไม่มีลายมือชื่อของทั้งสองฝ่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้องในแผนที่ดังกล่าวเลย อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบปฏิเสธว่า ไม่เคยมีข้อตกลงกับโจทก์ โจทก์เป็นคนทำแผนที่ดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เรื่อง แม้โจทก์จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านและบุคคลดีเด่นประจำหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละคนเป็นที่นับถือของคนในหมู่บ้านนั้นมาเบิกความก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็ได้ความว่า นายทองสุข คำกลาง บุคคลดีเด่นประจำหมู่บ้านและนายสวงค์ เลาหะพานิช กำนัน เป็นญาติกับโจทก์ถือได้ว่าพยานทั้งสองปากดังกล่าวมีส่วนได้เสียกับโจทก์ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาจึงยังไม่ได้ความชัดว่าที่พิพาทมีแนวเขตตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่ดินส่วนหนึ่งตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เอกสารหมาย ล.1 โดยนายธเนศ ประกอบ เจ้าหน้าที่ที่ดินผู้ออกน.ส.3 เอกสารหมาย ล.1 เบิกความว่า การรังวัดพิสูจน์ที่ดินเพื่อออก น.ส.3 นั้น ต้องออกหมายแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงทราบก่อน แต่การรังวัดพิสูจน์ที่ดินตาม น.ส.3 เอกสารหมาย ล.1นั้น นายธเนศไม่ได้ออกหมายแจ้งให้โจทก์ทราบ โดยนายธเนศไม่ได้เบิกความอธิบายถึงสาเหตุว่าเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่ที่พิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.1 ก็ระบุแนวเขตที่ดินทิศข้างเคียงว่าทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจดที่ดินนางเริง คงสุข มารดาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขอออก น.ส.3 ตามเอกสารหมาย ล.1 การที่นายธเนศไม่ได้ออกหมายแจ้งให้โจทก์ทราบ โดยไม่ทราบสาเหตุเช่นนี้จึงยังไม่ได้ความชัดว่า น.ส.3 ฉบับดังกล่าวจะออกมาโดยชอบหรือไม่และตามพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบมาก็เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังโต้เถียงการครอบครองอยู่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปปักเสาสร้างรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก
ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อมามีว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงแม้โจทก์จะอ้างว่าต้นไผ่ที่จำเลยที่ 2 เข้าไปตัดฟันนั้นปลูกอยู่ในที่พิพาทและโจทก์จะเป็นผู้ปลูกก็ตาม แต่ต้นไผ่เป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้เถียงสิทธิครอบครองในที่พิพาทกันอยู่เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ของต้นไผ่ซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาท การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปตัดฟันต้นไผ่ พฤติการณ์จึงมีเหตุอันสมควรให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าต้นไผ่ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share