แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านทวงหนี้จากลูกหนี้ในคดีแพ่งหากไม่ได้รับชำระหนี้ก็ให้ผู้คัดค้านดำเนินการบังคับคดีต่อไป เมื่อผู้คัดค้านไม่ดำเนินการบังคับดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องจึงมีผลเป็นการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2443 มาตรา 36 ซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20387-20388/2528 ระหว่างนายสุพงษ์ ศรีสมิต โจทก์นางยุพิน ศรีสมิต กับพวกจำเลย โดยผู้ร้องมีสิทธิที่จะบังคับคดีในคดีดังกล่าวและจะทำให้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินไม่ต่ำกว่า30,000,000 บาท เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2534 ที่ประชุมเจ้าหนี้คดีนี้มีมติยอมรับเงิน 3,000,000 บาท จากนายบุญทรัพย์ ศรีสมิตและให้งดการบังคับคดีแพ่งดังกล่าว ผู้ร้องไม่เคยทราบมติของที่ประชุมเจ้าหนี้และไม่ได้ยินยอมด้วย ประกอบกับการเสนอขอชำระหนี้ของนายบุญทรัพย์ไม่สุจริตเพราะนายบุญทรัพย์เป็นเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายที่ 12 และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับประโยชน์จากมติที่ประชุมเจ้าหนี้ มติดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องและไม่ผูกพันผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าวต่อไปแต่ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับเงิน 3,000,000 บาท จากกองมรดกทดแทนส่วนที่ตกทอดเป็นของผู้ร้องและให้งดการบังคับคดีแก่ทรัพย์มรดกผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้คัดค้านขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทวงหนี้จากลูกหนี้ในคดีแพ่งดังกล่าวหากไม่ได้รับชำระหนี้ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20387-20388/2528 ของศาลชั้นต้นคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตกลงให้แบ่งทรัพย์มรดกโดยวิธีเสนอราคาแข่งขันกันระหว่างทายาทและศาลพิพากษาความยอมแล้ว ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2529 ทายาทนำทรัพย์มรดกออกประมูลได้ราคา 42,322,780 บาทเมื่อรวมกับทรัพย์สินอื่นในกองมรดกคิดเป็นเงิน 47,909,000 บาทเมื่อหักสินสมรสของนางยุพิน ศรีสมิต ออกแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิได้รับ 1 ใน 9 ส่วน เป็นเงิน 2,661,661 บาท ดังนั้นการที่นายบุญทรัพย์ ศรีสมิต เสนอขอชำระหนี้จำนวน 3,000,000 บาทให้แก่กองทรัพย์สินของผู้ร้องโดยถือว่าเป็นส่วนแบ่งมรดกในส่วนที่ผู้ร้องจะได้รับซึ่งเป็นการเสนอให้ส่วนแบ่งมรดกแก่ผู้ร้องในจำนวนที่สูงกว่าสิทธิที่ผู้ร้องจะพึงได้รับและนายบุญทรัพย์ได้เสนอว่า หากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอดังกล่าวนายบุญทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 12 จะขอถอนคำขอรับชำระหนี้ข้อเสนอของนายบุญทรัพย์จึงไม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและในการประชุมเจ้าหนี้นั้น ผู้คัดค้านได้แจ้งกำหนดวันเวลาสถานที่กับหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้แล้ว ส่วนผู้ร้องได้แจ้งให้ทราบโดยการปิดประกาศหน้ากรมบังคับคดี เนื่องจากผู้ร้องหลบหนีและในการประชุมเจ้าหนี้ผู้คัดค้านก็ไม่ได้ให้ผู้มีส่วนได้เสียออกเสียงลงมติแต่อย่างใด เมื่อเจ้าหนี้ลงมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับตามข้อเสนอของนายบุญทรัพย์ มติของที่ประชุมเจ้าหนี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือประโยชน์ร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลายผู้คัดค้านจึงมีอำนาจในการดำเนินการตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อปี 2521 และ 2524 ผู้ร้องได้เป็นโจทก์ฟ้องนางยุพิน ศรีสมิตกับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นรวม 2 คดี ขอแบ่งทรัพย์มรดกของร้อยตำรวจโทครุธ ศรีสมิต เจ้ามรดก มีเด็กหญิงสิรินทิพย์ศรีสมิต กับพวกรวม 3 คน เป็นผู้ร้องสอด ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 14344/2521 และ 2462/2524 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่14 พฤศจิกายน 2528 ผู้ร้อง ผู้ร้องสอดทั้งสาม ผู้รับมรดกความและจำเลยทั้งห้าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 20387-20388/2528 ของศาลชั้นต้นดังปรากฏตามเอกสารหมาย ร.2 (ค.17) ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2529โจทก์ในคดีนี้ได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยในคดีล้มละลาย เมื่อวันที่20 มิถุนายน 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องเด็ดขาดและวันที่ 8 มกราคม 2530 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้ร้องเป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 21 มีนาคม 2529 ผู้ร้องและทายาทได้นำทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความประมูลขายระหว่างทายาท ปรากฏว่าผู้ร้องประมูลได้ในราคา 72,014,500 บาทแต่ผู้ร้องไม่ชำระเงิน วันที่ 30 สิงหาคม 2529 ทายาทได้นำทรัพย์มรดกออกประมูลเป็นครั้งที่สอง ปรากฏว่านายบุญทรัพย์เป็นผู้ประมูลได้ในราคา 42,332,780 บาท เมื่อนำทรัพย์ที่มีผู้ประมูลได้ในวันประมูลครั้งแรกจำนวน 5,576,220 บาท มารวมเข้าจึงเป็นจำนวนทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 47,909,000 บาท ต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 มิถุนายน 2530 ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการประมูลครั้งแรกของผู้ร้องตามมาตรา 114แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนการประมูลของผู้ร้อง นางจารุวรรณ กวางแก้วและนางสาวเดือนเพ็ญ ศรีสมิต ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3ในคดีนั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับให้ผู้คัดค้านทวงหนี้จากลูกหนี้ในคดีแพ่งหากไม่ได้รับชำระหนี้ก็ให้ผู้คัดค้านดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่ผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าว เนื่องมาจากผู้คัดค้านปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ลงมติรับข้อเสนอของนายบุญทรัพย์ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคำร้องของผู้ร้องจึงมีผลเป็นการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 36 ซึ่งให้สิทธิแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิร้องขอให้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2503 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาประการอื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องขอผู้ร้องนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน