คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยเข้ายึดถือที่ดินสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน ตามคำฟ้อง จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ใช้บังคับ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาเป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดครอบครองในครั้งแรก เมื่อ ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับผู้กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ได้
ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 นั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า วันที่ 27 ธันวาคม 2544 พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทภายใน 90 วัน จำเลยซึ่งรับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ตามฎีกาของโจทก์กลับไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดฐานนี้ขึ้นอ้างเพื่อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกฟ้องโจทก์ว่าไม่ชอบอย่างไร ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษตามฟ้อง อันหมายถึงขอให้ลงโทษจำเลยฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ด้วยนั้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 216

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8, 9, 108, 108 ทวิ และให้จำเลยและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 วรรคหนึ่ง และ 108 ทวิ วรรคสอง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท และให้จำเลยกับบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครองดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยมีการประกาศเป็นเขตหวงห้ามเพื่อใช้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2468 ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2533 กรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อแสดงเขตของที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นว่ามีรูปลักษณะอย่างไร เนื้อที่ที่ตั้งเป็นอย่างไรและใช้เพื่อประโยชน์อะไร ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและรูปแผนที่แสดงเขตด้านหลังหนังสือสำคัญนั้น ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2544 นายเที่ยง นายช่างรังวัด 6 ประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ สาขาปราสาท ได้ทำการรังวัดที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยปรากฏว่าจำเลยทำนาล้ำเข้าไปในเขตที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 10 ตารางวา ตามรูปแผนที่ ส่วนจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินที่นางเกือน มารดาของจำเลยแจ้งการครอบครองไว้ ซึ่งได้ทำนาในที่ดินดังกล่าวตลอดมาและจำเลยได้รับมรดกตกทอดมาจากนางเกือน เมื่อการประกาศให้ที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยเป็นเขตหวงห้ามได้กระทำมาตั้งแต่ปี 2468 ก่อนที่มารดาของจำเลยจะยื่นแบบแจ้งการครอบครองที่ดินประมาณ 30 ปี ซึ่งต่อมาได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและทำรูปแผนที่ไว้ การดำเนินการดังกล่าวล้วนเป็นการจัดทำโดยทางราชการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตน ส่วนแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเป็นเพียงเอกสารที่ผู้ครอบครองที่ดินทำยื่นต่อเจ้าพนักงาน เพื่อแสดงที่ดินที่อยู่ในความครอบครองโดยประมาณเท่านั้น ทั้งจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยหรือไม่ เช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยทำนาตามรูปแผนที่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่สาธารณประโยชน์ทุ่งโครอยจริง อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยจำเลยมิได้มีสิทธิครอบครองและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ฉะนั้นตามคำฟ้อง จำเลยจึงเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ที่แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ ใช้บังคับ ทั้งการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2510 ตลอดมาก็เป็นการครอบครองสืบเนื่องมาจากการเข้ายึดถือครอบครองในครั้งแรก เมื่อมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฎิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุก ฯลฯ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ที่โจทก์ขอให้ลงโทษได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เนื่องด้วยไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาในความผิดฐานนี้ได้ สำหรับความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 นั้น แม้โจทก์ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าวันที่ 27 ธันวาคม 2544 พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลา 90 วัน จำเลยซึ่งรับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหนังสือและใบตอบรับไปรษณีย์ แต่ตามฎีกาของโจทก์กลับไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดฐานนี้ขึ้นอ้างอิงเพื่อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกฟ้องโจทก์ว่าไม่ชอบอย่างไร ดังนั้นฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องอันหมายถึงขอให้ลงโทษจำเลยฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ด้วยนั้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และมาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในความผิดส่วนนี้และเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share