แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองต่างเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์คนละส่วนเป็นส่วนสัดแยกต่างหากจากกัน ซึ่งโจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคนละคดีได้ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง เข้ามาในคดีเดียวกัน แต่การพิจารณาว่าคดีมีทุนทรัพย์เท่าใด ย่อมจะต้องถือตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนต่างเข้าไป ยึดถือครอบครองมิใช่นับรวมกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14373เนื้อที่ 64 ตารางวา โดยซื้อมาจากนายไถง สุวรรณทัต เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 กับซื้อมาจากนายสมบัติ บุญสูงเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวเลขที่ 495 และ 495/1-3 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 11279ถึง 11282 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินกับตึกแถวเลขที่ 495/4-5ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11277 และ 112278 ที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 14373 ทางด้านทิศตะวันตก นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11288พร้อมตึกแถวเลขที่ 323 ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 โจทก์ต้องการที่จะปลูกอาคารในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว จึงยื่นขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 14373แต่การรังวัดไม่อาจกระทำได้เพราะมีสิ่งกีดขวางอยู่ตั้งแต่เขตที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้านทิศตะวันออกไปจนสุดเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 28 ตารางวา โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยทั้งสองได้สร้างสิ่งกีดขวางดังกล่าวในวันที่จำเลยได้เข้าเบิกความในคดีหมายเลขดำที่ 1921/2533 คดีหมายเลขแดงที่5421/2534 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อสิ่งกีดขวางซึ่งอยู่ในที่ดินของโจทก์ออกไป จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย โจทก์จึงทำการรังวัดไม่ได้จนบัดนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดิน ค่าเสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ9,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา1 เดือน 20 วัน เป็นเงิน 15,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 ตำบลบางแค (หลักสอง)อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ พร้อมนำสิ่งของทั้งหลายที่จำเลยทั้งสองนำมาไว้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่นำสิ่งของออกไป ถือว่าจำเลยทั้งสองสละกรรมสิทธิ์โจทก์มีสิทธิจัดการนำออกไปจากที่ดินของโจทก์โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 15,000 บาท กับต่อไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่พิพาทหลังตึกแถวเลขที่ 495 และ 495/4-5 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี แล้วตั้งแต่ปี 2515 ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี 2518 การที่โจทก์รับโอนที่พิพาทเมื่อปี 2534 จึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่พิพาทซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองปรปักษ์เนื้อที่กว้าง 1.5 เมตร โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายมาเดือนละ 9,000 บาทเป็นเพียงความคาดหวังที่ไม่แน่นอนจำเลยทั้งสองอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิในที่ดินก่อนโจทก์ โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง และขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจิรญกรุงเทพมหานคร โดยการครอบครองปรปักษ์และให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 ให้แก่จำเลยทั้งสอง หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทเพราะอยู่โดยอาศัยสิทธิของเจ้าของเดิม โจทก์ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 14373 ตำบลบางแค (หลักสอง)อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ2,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินให้โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสองต่างเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์คนละส่วนเป็นส่วนสัดแยกต่างหากจากกันซึ่งโจทก์จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคนละคดีได้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาในคดีเดียวกันก็ตาม แต่การพิจารณาว่าคดีมีทุนทรัพย์เท่าใดนั้นย่อมจะต้องถือตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนต่างเข้าไปยึดถือครอบครองมิใช่นับรวมกัน ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 28 ตารางวา ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 ระบุว่ามีราคา 300,000 บาท ตามแผนที่สังเขปแสดงที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 จำเลยที่ 1 ยึดถือครอบครองจำนวน 4 ส่วน ส่วนจำเลยที่ 2 ยึดถือครอบครองจำนวน 2 ส่วนที่ดินที่จำเลยแต่ละคนยึดถือครอบครองสามารถคำนวณเป็นราคาได้ไม่เกินคนละ 200,000 บาท ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และจำเลยแต่ละคนจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาทต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาฟ้องได้ว่าโจทก์ได้ที่ดินพิพาทโดยไม่เสียค่าตอบแทนและไม่สุจริตจำเลยทั้งสองครอบครองที่พิพาทโดยสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่าสิบปี จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
ให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง