คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นหนี้จำเลยที่ 1จำนวน 42,000,000 บาทเศษ แม้หากจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท การจำนองก็ยังคงครอบไปถึงที่ดินที่จำนองทุกแปลง เว้นแต่จำเลยที่ 1ผู้รับจำนองยินยอมด้วยก็สามารถปลอดจำนองที่ดินแปลงใดได้ดังนั้นการที่โจทก์ขอชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 เพียงบางส่วนเพื่อให้ที่ดินพิพาทปลอดจากจำนองย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จะยอมรับหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ก็ไม่มีทางที่จะบังคับจำเลยที่ 1 ให้ยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องค่าขึ้นศาลไม่ถูกต้องแม้โจทก์ไม่โต้แย้งคำสั่ง โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว หรือแม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าวแต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลสูงชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1993/2526 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 58119 แก่โจทก์ และรับเงินจำนวน 1,300,000 บาท จากโจทก์แต่เนื่องจากจำเลยที่ 4 ได้กู้เงินจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 58119 และที่ดินแปลงอื่นเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 4 ต่อจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเข้าใช้สิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 58119 จากจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 1,300,000 บาท ตามที่ศาลพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ไถ่ถอนอ้างว่าจะต้องไถ่ถอนเป็นเงิน4,356,547.37 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวและโฉนดอื่น อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้บังคับจำเลยที่ 1มิให้จำหน่ายจ่ายโอนหรือบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 58119 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยินยอมให้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนแทนและจำเลยที่ 1รับการไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 58119 ดังกล่าวในวงเงิน1,300,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยไม่ต้องใส่ชื่อจำเลยที่ 2ก่อนหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นใช้บังคับเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น แต่จะบังคับจำเลยที่ 1หาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทรวมกับที่ดินแปลงอื่นอีก 4 โฉนด เป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 4โดยมิได้กำหนดแบ่งยอดหนี้ในแต่ละโฉนดไว้จึงเป็นประกันหนี้เงินกู้ทั้งหมดของจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทในราคา1,300,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสวมสิทธิของจำเลยที่ 2 ไถ่ถอนที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธ เพราะเท่ากับจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิไถ่ถอนนั่นเอง เห็นว่า เรื่องจำนอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 716 บัญญัติว่า จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน และมาตรา 717 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าแม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตามท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง วรรคสองบัญญัติว่า ถึงกระนั้นก็ดีถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลอดจากจำนองก็ให้ทำได้ แต่ความยินยอมดังว่านี้หากมิได้จดทะเบียน ท่านว่าจะยกเอาขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวการที่โจทก์สวมสิทธิของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิเพียงเท่าที่จำเลยที่ 2 มี และโจทก์นำสืบรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อบังคับจำนองเป็นเงิน 42,000,000 บาทเศษ ตามคดีหมายเลขดำที่ 13024/2534 ของศาลชั้นต้น ซึ่งฟ้องก่อนโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ตามจำนวนดังกล่าวแม้หากจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,300,000 บาท การจำนองก็ยังคงครอบไปถึงที่ดินที่จำนองทุกแปลง เว้นแต่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนองยินยอมด้วยก็สามารถปลอดจำนองที่ดินแปลงใดได้ ดังนั้นการที่โจทก์ขอชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 เพียงบางส่วนเพื่อให้ที่ดินพิพาทปลอดจากจำนองย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จะยอมรบหรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ยินยอม ก็ไม่มีทางที่จะบังคับจำเลยที่ 1 ให้ยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วฎีกาของโจทก์ประการต่อมาที่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายที่ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาเรื่องค่าขึ้นศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียเพิ่มโดยไม่ชอบเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในจำนวนเงิน1,300,000 บาท จึงเป็นคดีที่มีข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 จะต้องยอมให้โจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทให้จำนวนเงิน 1,300,000 บาท หรือไม่ ไม่ใช่คดีที่พิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามราคาประเมินของทางราชการ อันแสดงว่าศาลชั้นต้นถือว่าเป็นคดีที่พิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ของที่ดินพิพาทจึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะแม้หากจำเลยที่ 1 ต้องยอมให้โจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 อยู่ เพียงแต่ปลอดจำนองเท่านั้น เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องแม้โจทก์ไม่โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว หรือแม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสูงชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่คดีนี้โจทก์ได้อุทธรณ์แล้วดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นอีกทั้งเมื่อคดีนี้ปรากฏว่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ดังนั้น การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ขอไถ่ถอนที่ดินพิพาทในจำนวนเงิน 1,300,000 บาท ตลอดมา จึงเป็นการไม่ถูกต้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์เสียเกินกว่า200 บาท ในทุกชั้นศาลแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share