คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6749/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา680วรรคสองจึงต้องห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข)ดังนั้นข้อตกลงนอกเหนือสัญญาค้ำประกันว่าหากบริษัทง. ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือเมื่อดำเนินการบังคับคดีแล้วได้ทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงจะชำระหนี้แทนดังที่ผู้ร้องอ้างและนำสืบด้วยพยานบุคคลอันเป็นการเพิ่มเติมเอกสารสัญญาค้ำประกันจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง สัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้กับผู้ล้มละลายมีความว่าหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเป็นผู้สาบสูญหรือตายหรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยหาตัวไม่พบหรือกรณีอื่นใดที่ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วนผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังนี้ย่อมมีความหมายว่าผู้ร้องยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของบริษัทง.เหตุนี้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ผู้คัดค้านเรียกให้บริษัทง. ชำระหนี้ก่อนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา691 แม้สัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนสัญญาค้ำประกันและตารางการผ่อนชำระหนี้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อความว่าผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายเดือนแต่เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/32มิใช่มีอายุความ5ปีตามมาตรา193/33เพราะมิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ มูลหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาค้ำประกันเกิดจากตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อได้ความว่าขณะเกิดกรณีพิพาทผู้ล้มละลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจเงินทุนมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้สูงสุดถึงอัตราร้อยละ21ต่อปีผู้ล้มละลายจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ17ต่อปีตามสัญญา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ผู้ร้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับจากวันที่6มิถุนายน2534ย้อนหลังขึ้นไป5ปีคือวันที่6มิถุนายน2529และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ร้องในปัญหานี้ให้เพราะเห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดีผู้ร้องฎีกาอ้างเพียงว่าการคิดดอกเบี้ยต้องไม่เกิน5ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/33(1)ฎีกาของผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา153ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนซินเซียร์ทรัสต์ จำกัด ผู้ล้มละลายเด็ดขาดในการจัดการทรัพย์สินของผู้ล้มละลาย ผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งความให้ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้ร้องปฎิเสธหนี้ไปยังผู้คัดค้าน ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้ดังกล่าว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามที่ผู้คัดค้านยืนยันหนี้ เพราะบริษัทเงินบางกอกเงินทุน จำกัดที่ผู้ร้องค้ำประกันได้ชำระหนี้แก่ผู้ล้มละลายไปครบถ้วนแล้วและผู้คัดค้านอาจบังคับเอาจากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดก่อน ตามข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับกรรมการของผู้ล้มละลาย และหนี้ต้นเงินเป็นการแบ่งชำระเป็นคราว ๆ มีจำนวนแน่นอน หนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกเป็นโมฆะ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของผู้ล้มละลาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุนจำกัด ค้างชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้กับผู้ล้มละลายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นมา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ยังคงต้องผูกพันร่วมกับบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ส่วนต้นเงินผู้ล้มละลายอาจเรียกร้องให้ชำระได้เต็มจำนวนเพียงแต่ผู้ล้มละลายยินยอมให้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ผ่อนชำระ จึงไม่ใช่เงินที่ต้องผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ และไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระอายุความเรียกร้องมีกำหนด 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ และผู้ล้มละลายได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุน มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ร้อยละ 17 ต่อปี ไม่ตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2527 และสัญญาจำนำใบหุ้นของบริษัทบางกอกฮิลตันโฮเต็ล จำกัด(บริษัทเอแอนด์บีโฮเต็ล จำกัด) จำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับจากวันที่ 6 มิถุนายน 2529จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้อง อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องที่ว่า ผู้ร้องจะต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2529 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่นั้น ผู้ร้องฎีกาว่าบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ซึ่งจะต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ร.1 ได้ชำระหนี้ให้ผู้ล้มละลายครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย ร.2จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่าหากมีการชำระหนี้กันจริง หลักฐานทางบัญชีในรายลูกหนี้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ของผู้ล้มละลายจะต้องปรากฏ แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากการ์ดบัญชีในรายลูกหนี้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ตามเอกสารหมาย ค.10 ว่าบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด ได้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528 จำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งขณะนั้นบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด เป็นหนี้ผู้ล้มละลายอยู่7,000,000 บาท คงเหลือหนี้ 5,000,000 บาท และนับจากนั้นมาไม่ปรากฎหลักฐานทางบัญชีว่าได้มีการชำระหนี้กันอีกเลย นอกจากนี้ยังได้ความว่า ผู้ร้องได้ออกเช็คชำระหนี้รวม 9 ฉบับ ให้แก่ผู้ล้มละลายตามตารางผ่อนชำระหนี้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ร.1 เช็คแต่ละฉบับมีหมายเลขวันสั่งจ่าย และจำนวนเงินหากมีการชำระหนี้ตามเช็คนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเช็คย่อมจะนำสืบพิสูจน์ได้โดยง่ายเพราะมีหมายเลขเช็คและจำนวนเงินตามเช็คซึ่งมีจำนวน 1,000,000 บาท และบางฉบับ 2,000,000 บาท แต่ผู้ร้องก็หาได้กระทำไม่ ทั้งปรากฎว่าบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นก็หาได้คัดค้านต่อศาลในเมื่อผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันหนี้ไม่ ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าหนี้รายนี้ได้มีการชำระครบถ้วนแล้วจึงไม่อาจรับฟังได้
ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องต่อมาที่ว่า ผู้ร้องจะขอให้ผู้คัดค้านบังคับชำระหนี้จากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดก่อนได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า มีข้อตกลงนอกเหนือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ร.2 ว่าหากบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือเมื่อได้ดำเนินการบังคับคดีแล้วได้ทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ ผู้ร้องจึงจะชำระหนี้แทนนั้น เห็นว่า สัญญาค้ำประกันต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)ข้อตกลงที่ผู้ร้องอ้างและนำสืบด้วย พยานบุคคลเป็นการเพิ่มเติมเอกสารสัญญาค้ำประกันจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันมิใช่รับผิดร่วมกับบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุนจำกัด จึงมีสิทธิที่จะขอให้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดชำระหนี้ก่อน อีกทั้งบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดยังประกอบกิจการและมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ และการที่จะบังคับให้ชำระหนี้ไม่เป็นการยาก เห็นว่า สัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้กับผู้ล้มละลายตามเอกสารหมาย ร.2 ข้อ 3 มีความว่าหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเป็นผู้สาบสูญหรือตาย หรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยหาตัวไม่พบ หรือกรณีอื่นใดที่ทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้ย่อมมีความหมายว่า ผู้ร้องยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของบริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด เหตุนี้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ผู้คัดค้านเรียกให้บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัดชำระหนี้ก่อนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691
ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องต่อไปมีว่า สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมเอกสารหมาย ร.1 มีอายุความ 10 ปี หรือ 5 ปีเห็นว่าแม้สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ร.1 ตลอดจนสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ร.2 และตารางการผ่อนชำระหนี้ท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความจะมีข้อความว่า ผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายเดือน แต่เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 มิใช่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 เพราะมิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ดังที่ผู้ร้องฎีกา
ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องประการสุดท้ายที่ว่า บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปีตามสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ร.1และ ร.2 หรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาค้ำประกันเกิดจากตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อได้ความว่าขณะเกิดกรณีพิพาทผู้ล้มละลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจเงินทุนมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้สูงสุดถึงอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ผู้ล้มละลายจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ตามสัญญาฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาผู้ร้องในส่วนที่ว่าสิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้ผู้ร้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับจากวันที่ 6 มิถุนายน 2534ย้อนหลังขึ้นไป 5 ปี คือวันที่ 6 มิถุนายน 2529 และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ร้องในปัญหานี้ให้เพราะเห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดี ผู้ร้องฎีกาอ้างเพียงว่า การคิดดอกเบี้ยต้องไม่เกิน5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ฎีกาของผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share