คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9153/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะกรรมการของบริษัทลูกหนี้ที่ 1ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่เจ้าหนี้โดยมีลูกหนี้ที่ 2ลงลายมือชื่อแต่เพียงผู้เดียวและประทับตราบริษัทของลูกหนี้ที่ 1 ไม่ครบถ้วนตามหนังสือรับรองของลูกหนี้ที่ 1ที่นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทออกให้ซึ่งต้องมีกรรมการอื่นอีกคนหนึ่งลงชื่อร่วมกัน เป็นการกระทำของตัวแทนที่กระทำโดยปราศจากอำนาจแต่หลังจากที่ลูกหนี้ที่ 2ทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว ลูกหนี้ที่ 1 มิได้โต้แย้ง คัดค้านกลับนำเงินไปผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามหนังสือ รับสภาพหนี้นั้นบางส่วน ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ได้ให้ สัตยาบันแก่การกระทำของลูกหนี้ที่ 2 ทำให้มีผลผูกพัน ลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะตัวการว่ายอมรับการกระทำของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่เจ้าหนี้และต้องชำระหนี้ นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ลูกหนี้ ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย)ที่ 1 และที่ 2 ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2534 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 191,539.28 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 รายละเอียดปรากฎตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้และเอกสารที่เจ้าหนี้อ้างส่ง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์สอบสวนแล้วเห็นว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีลูกหนี้ที่ 2 กรรมการของลูกหนี้ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราของลูกหนี้ที่ 1แต่เพียงผู้เดียว ไม่สมบูรณ์ตามข้อกำหนดที่จดทะเบียนไว้ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ลูกหนี้ที่ 1จึงไม่ต้องรับผิด เมื่อหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ผูกพันลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นย่อมไม่ผูกพันลูกหนี้ที่ 2ผู้ค้ำประกันภัยด้วย เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2530ลูกหนี้ที่ 1 ทำคำขอให้เจ้าหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน เลขที่ 002/2530 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 ซึ่งลูกหนี้ที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาจะจ่ายเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้วนเซ้งฮวดโลหะกิจ จำนวน 1,300,000 บาท เพื่อชำระค่าสินค้าในวันที่ 15 กรกฎาคม2530 โดยลูกหนี้ที่ 1 ตกลงว่าเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดลูกหนี้ที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้วนเช้งฮวดโลหะกิจได้ จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปก่อน ลูกหนี้ที่ 1ยินยอมชดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ชำระเงินให้แก่ผู้รับเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เจ้าหนี้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว และเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ ลูกหนี้ที่ 1 ได้ให้สิทธิที่จะถอนเงินฝากประจำจำนวน 150,000 บาท ตามใบรับฝากเงินประจำเลขที่ เอฟ 218875 แก่เจ้าหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 และโอนสิทธิการรับเงินค่างานรับเหมาก่อสร้างอาคารที่ลูกหนี้ที่ 1 จะได้รับจากบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล จำกัด จำนวน 3,150,000 บาท ให้เจ้าหนี้ไว้ด้วยและลูกหนี้ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่ลูกหนี้ที่ 1 ทำไว้แก่เจ้าหนี้โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 รวม 3 ฉบับ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดลูกหนี้ที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเจ้าหนี้ในฐานะผู้อาวัลได้ชำระเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้วนเซ้งฮวดโลหะกิจแทนลูกหนี้ที่ 1 ไปก่อนหลังจากนั้นลูกหนี้ที่ 1 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้เจ้าหนี้เป็นเงิน1,489,957.55 บาท ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2533 ลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่เจ้าหนี้โดยลูกหนี้ที่ 2 ลงชื่อเพียงคนเดียวและประทับตราบริษัทของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งไม่ครบถ้วนตามข้อบังคับของลูกหนี้ที่ 1 ยอมรับว่า ณ วันที่11 กรกฎาคม 2533 ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้จำนวน203,038.39 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีเป็นเงิน 826.06 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 203,864.45 บาท ลูกหนี้ที่ 1 ขอผ่อนชำระเป็นรายงวด 3 เดือน งวดละ 30,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเงินค้างชำระในอัตราสูงสุดของเจ้าหนี้ และยอมให้ดำเนินคดีได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.4หลังจากนั้นลูกหนี้ที่ 1 ได้นำเงินมาผ่อนชำระให้เจ้าหนี้บางส่วน คิดยอดหนี้ถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ 1 ยังคงเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 191,539.28 บาท ตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะกรรมการของลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่เจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 โดยมีลูกหนี้ที่ 2 ลงลายมือชื่อแต่เพียงผู้เดียวและประทับตราบริษัทของลูกหนี้ที่ 1 ไม่ครบถ้วนตามหนังสือรับรองของลูกหนี้ที่ 1 ที่นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทออกให้ซึ่งต้องมีกรรมการอื่นอีกคนหนึ่งลงชื่อร่วมกัน ตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นการกระทำของตัวแทนที่กระทำโดยปราศจากอำนาจแต่หลังจากที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วลูกหนี้ที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านกลับนำเงินไปผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นบางส่วน ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของลูกหนี้ที่ 2ดังกล่าว ทำให้มีผลผูกพันลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะตัวการว่ายอมรับการกระทำของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่เจ้าหนี้และต้องชำระหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 และลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ด้วย
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 เต็มจำนวนตามขอ

Share