คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8322/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นของบิดาโจทก์ให้จำเลยครอบครองแทนแต่ที่ดินพิพาทมีเพียง น.ส.2 ซึ่งเป็นหนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐชั่วคราว ยังไม่ได้รับคำรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 มาตรา 9 จึงโอนกันไม่ได้ ฉะนั้นโจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่ออยู่ใน น.ส.2 ไปยื่นหรือขอให้เปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เจ้าพนักงานที่ดินจะออกให้ตาม น.ส.2 เป็นชื่อโจทก์ได้ จึงพิพากษาให้ตามคำขอส่วนนี้ไม่ได้ แต่เนื่องจากเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ห้ามจำเลยเข้าไปรบกวนการครอบครองที่พิพาท จึงเป็นคดีประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จึงมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนที่พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสู้ เอกศิลป์เมื่อปี 2501 ถึง 2502 นายสู้ซื้อที่ดินไว้ 7 แปลง และยังบุกเบิกออกไปอีกรวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 117 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวาตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายสู้ให้จำเลยที่ 2 นายชอบ กิ่งแก้ว และนายภิญโญ กิ่งแก้วเป็นผู้แผ้วถางและบุกเบิกที่ดินเพื่อทำสวนยางพาราโดยจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือน วันที่ 31 กรกฎาคม 2504 นายสู้ทำหนังสือสัญญากับบุคคลทัั้งสามว่า เมื่อทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้งหมดแล้วจะยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2และนายภิญโญคนละ 5 ไร่ และให้นายชอบ 10 ไร่ วันที่31 ธันวาคม 2504 นายชอบทำหนังสือสัญญากับนายสู้ว่านายชอบไม่ขอรับที่ดินแต่จะขอเป็นเงินค่าตอบแทนจากนายสู้ 8,000 บาท เมื่อนายชอบรับเงินแล้วได้ออกไปจากที่ดินของนายสู้พร้อมกับนายภิญโย ต่อมาจำเลยที่ 2ได้จำเลยที่ 1 เป็นสามี นายสู้ให้จำเลยทั้งสองดูแลที่ดินของนายสู้ต่อไปเมื่อต้นยางพาราสามารถกรีดน้ำยางได้ นายสู้แบ่งผลประโยชน์ให้จำเลยทั้งสอง 1 ใน 3 ปี 2512 นายสู้ขอออกใบจอวง (น.ส.2) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางราชการไม่สามารถอกใบจองให้ได้ เพราะนายสู้ เป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่น ๆ หลายแปลงแล้ว การออกใบจองออกให้เฉพาะผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเท่านั้น และจะออกให้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ นายสู้จึงขอออกใบจองโดยใส่ชื่อโจทก์เนื้อที่ 45 ไร่ และชื่อจำเลยที่ 2 เนื้อที่ 35 ไร่ 40 ตารางวาปี 2531 ทางราชการเดินสำรวจเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ที่ดินของนายสู้ตั้งอยู่ นายสู้จึงไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยแบ่งที่ดินที่ครอบครองเป็น 4 แปลง ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของนายสู้ โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 พนักงานเจ้าหน้าที่ออก น.ส.3 ก. ในนามของนายสู้และจำเลยที่ 1 แล้วส่วนที่ขอออกในนามของโจทก์และจำเลยที่ 2 นั้น พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องรังวัดที่ดินใหม่ ปี 2530 นายสู้จึงนำหลักฐานใบจองที่มีชื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างที่พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่นั้น วันที่ 18 กุมภาพันธ์2531 นายสู้ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อประมาณปลายปี 2531 จำเลยทั้งสองติดต่อขอให้โจทก์ยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 531 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิแทนนายสู้ให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 2 จะโอนที่ดินตามใบของที่จำเลยที่ 2ถือสิทธิแทนนายสู้ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงตามข้อเสนอของจำเลยทั้งสอง และนำสัญญาไปให้จำเลยทั้งสองลงชื่อแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมลงชื่อ ต่อมาต้นปี 2532 โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองให้คนงานเข้าไปกรีดยางในสวนยางพาราในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 531โจทก์จึงห้ามไว้ จำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์โอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ดินตามใบจองที่มีชื่อจำเลยที่ 2 ถือสิทธิแทนนายสู้ให้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่ยินยอมและแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอถลางขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายสู้ ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินตามน.ส.3 ก. เลขที่ 531 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตเป็นชื่อของโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อในใบจอง(น.ส.2) เลขที่ 8 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตให้เป็นชื่อโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเกินกว่าหนึ่งปี โจทก์จึงไม่มีฟ้องเรียกคืนการครอบครองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 531 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาห้ามจำเลยที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นของนายสู้ จำเลยทั้งสองถากถางและครอบครองที่พิพาทแทนนายสู้ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่าโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ไปยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอถลาง แล้วดำเนินการออกให้ตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 80เป็นชื่อโจทก์ และห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว เห็นว่า ที่ดินดังกล่าวมีเพียง น.ส.2 ซึ่งเป็นหนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐชั่วคราวยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้วตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497มาตรา 9 จึงโอนกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2ไปยื่นหรือขอให้เปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เจ้าพนักงานที่ดินจะออกให้ตาม น.ส.2 เลขที่ 80 เป็นชื่อโจทก์ได้แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ และโจทก์ได้มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเข้าไปรบกวนการครอบครองที่พิพาท จึงเป็นคดีประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จึงเห็นสมควรมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยทั้งสองตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยทั้งสองที่อยู่บนที่พิพาททั้งสองแปลงเสียด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองตลอดถึงวงศ์ญาติและบริวารของจำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาททั้งสองแปลงนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share