คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6837/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 18 บัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นมีเพียงตามมาตรา 19 ที่บัญญัติถึงกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับว่า สิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 ที่แก้ไขเพิ่มเติม กับมาตรา 20 ที่บัญญัติว่า กรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นตามที่บัญญัติในมาตรา 691 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่รวมถึงมาตรา 681/1 ที่กำหนดให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะไว้ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบกับผู้เช่าซื้ออย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันจึงยังคงใช้บังคับได้
ข้อความตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อไม่มีลักษณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสดงออกถึงเจตนาจะให้สัญญาเช่าซื้อเดิมระงับ และจำนวนค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าซื้อคงเหลือจากที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผ่อนชำระตามสัญญาเดิมและไม่มีการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนก่อนทำสัญญาใหม่ จึงเป็นเพียงการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้นไม่ใช่เป็นการทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดชำระซึ่งเดิมกำหนด 72 งวด เป็น 84 งวด อันมีผลให้ระยะเวลาที่จำเลย 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทอดยาวกว่าเดิม มีลักษณะของการที่เจ้าหนี้ยอมขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงว่า หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้ … ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมด้วยทุกครั้งแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามมาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) นั้น เมื่อมาตรา 18, 19 และ 20 ไม่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กับทั้งมาตรา 691 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังบัญญัติว่า ข้อตกลงที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว แม้จะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาด้วย ดังนั้น การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดเพราะเหตุผ่อนเวลา ส่วนที่สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกันตามมาตรา 691 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติม นั้น ก็มีผลเพียงให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะเท่านั้น ข้อตกลงอื่นสามารถแยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ตามมาตรา 173 จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว
พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถาม และบอกกล่าวเลิกสัญญาไปส่งให้จำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา แม้จะไม่พบจำเลยที่ 2 และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยระบุว่าไม่มารับตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าว จึงถือได้ว่าหนังสือบอกกล่าวได้ส่งถึงจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการบอกกล่าวโดยชอบแล้ว แม้หนังสือบอกกล่าวจะส่งไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง และเมื่อการเลิกสัญญาเช่าซื้อมีผลให้ผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของ หรือเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ รวมถึงการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 ก็มีผลให้ทรัพย์สินต้องกลับคืนสู่ความครอบครองของเจ้าของ ดังนั้นการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของหรือการใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการไม่อาจส่งมอบวัตถุแห่งหนี้ จึงไม่ใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 686 วรรคสอง อันจำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดจากเหตุบอกกล่าวเกินหกสิบวันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด แต่สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่มีสิทธิ และเป็นความเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังไม่ยอมส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยด้วยตามวรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 710,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือไม่ชดใช้ราคารถยนต์ ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 ใช้ราคาแทนจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 10,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้ค่าขาดประโยชน์วันละ 240 บาท หรือเดือนละ 7,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 358,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย 10,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 สิงหาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 12 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแทน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 493,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 493,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน กจ xxxx พัทลุง จากโจทก์ในราคา 842,472 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 72 งวด งวดละ 10,935.51 บาท ต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2556 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือรวมดอกเบี้ยจำนวน 699,633.48 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 84 งวด งวดละ 8,328.97 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 ตุลาคม 2558 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้ออีกเพียง 4 งวด แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นเวลาสามงวดติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือวันที่ 20 พฤษภาคม 2559 ส่วนจำเลยที่ 2 หนังสือถูกส่งคืนผู้ฝากเพราะไม่มารับภายในกำหนด แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ยังไม่สามารถติดตามรถที่เช่าซื้อคืนได้ จึงเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกันคืนรถที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนและค่าขาดประโยชน์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า สัญญาเช่าซื้อ (ที่ถูก ค้ำประกัน) ที่มีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมาตรา 18 บัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นมีเพียงตามมาตรา 19 ที่บัญญัติในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 ที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 20 ที่บัญญัติในกรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นตามเงื่อนไขที่บัญญัติในมาตรา 691 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่รวมถึงบทบัญญัติมาตรา 681/1 ที่กำหนดให้ ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะไว้ด้วย ดังนั้นข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบกับผู้เช่าซื้ออย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 จึงยังคงใช้บังคับได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อไปว่า การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ตามที่ผู้เช่าซื้อได้เช่าซื้อทรัพย์จากธนาคารตามสัญญาเช่าซื้อเลขที่…. ปรากฏว่าผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อต่อไปได้ จึงประสงค์ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระค่าเช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาทุกฝ่ายจึงตกลงทำสัญญานี้ขึ้นดังมีข้อความต่อไปนี้… ข้อ 5 นอกจากข้อความที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในสัญญานี้แล้ว ผู้เช่าซื้อตกลงให้ข้อความตามสัญญาเช่าซื้อมีผลใช้บังคับได้สมบูรณ์ต่อไปทุกประการ และตกลงยินยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อด้วย… ข้อความดังกล่าวไม่มีลักษณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสดงออกถึงเจตนาจะให้สัญญาเช่าซื้อเดิมระงับ ประกอบกับเมื่อพิจารณาจำนวนค่าเช่าซื้อก็เป็นค่าเช่าซื้อคงเหลือจากที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผ่อนชำระตามสัญญาเช่าซื้อเดิมและไม่มีการส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ก่อนทำสัญญาใหม่ สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นเพียงหลักเกณฑ์การผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ดังข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ส่วนที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อ มีข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าซื้อกันใหม่ จากเดิมที่กำหนดชำระค่าเช่าซื้อกันไว้ 72 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นกำหนดชำระค่าเช่าซื้อรวม 84 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ซึ่งความตกลงดังกล่าวมีผลให้ระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อทอดยาวออกไปกว่าที่กำหนดไว้เดิม อันมีลักษณะของการที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมขยายระยะเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ข้อ 3 มีข้อตกลงว่า หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้ หรือตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อในประการใด ๆ ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมด้วยทุกครั้งแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่บัญญัติเกี่ยวด้วยการหลุดพ้นจากความรับผิดของผู้ค้ำประกัน หากเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ในหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็หาได้หลุดพ้นความรับผิดไป ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ซึ่งบัญญัติว่า ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้นั้น เมื่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 18, 19 และ 20 ตามที่กล่าวมาในปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรก ไม่ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กับทั้งมาตรา 691 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังบัญญัติไว้เพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้อีกว่า ข้อตกลงที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำขึ้นภายหลังลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว แม้จะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาด้วย ดังนั้น การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิได้ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดเพราะเหตุการผ่อนเวลา ส่วนการที่สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อที่มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอันมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกันตามมาตรา 691 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งนำมาใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 20 นั้น ก็เพียงมีผลทำให้เฉพาะข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะเท่านั้น ซึ่งสามารถแยกออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ตามมาตรา 173 ประกอบกับเมื่อวินิจฉัยว่าการทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อ ไม่ทำให้สัญญาเช่าซื้อเดิมระงับดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของหนี้ที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว และเมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ไม่เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในการคืนรถยนต์หรือใช้ราคาแทนและรับผิดค่าขาดประโยชน์ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สำหรับการบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อมาตรา 386 บัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และมาตรา 169 บัญญัติว่า การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา… ซึ่งตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 7 ระบุว่า บรรดาหนังสือติดต่อ ทวงถาม บอกกล่าว หรือหนังสืออื่นใดที่จะส่งให้แก่ผู้ค้ำประกันนั้น ไม่ว่าจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียน หรือให้คนนำไปส่งเองก็ดี ถ้าหากได้ส่งไปยังที่อยู่ที่ระบุไว้ในข้างต้นของสัญญานี้แล้ว ให้ถือว่าได้ส่งให้แก่ผู้ค้ำประกันโดยชอบ ทั้งนี้ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีผู้รับไว้โดยชอบหรือไม่… ดังนั้น ที่พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถามชำระค่าเช่าซื้อ บอกเลิกสัญญาของโจทก์ไปส่งให้จำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญา อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่พบจำเลยที่ 2 และไม่มีผู้ใดรับไว้โดยระบุว่าไม่มารับตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ และถือได้ว่าหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดและบอกเลิกสัญญาของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการบอกกล่าวโดยชอบตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประกอบกับแม้ในขณะจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 จะใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามภูมิลำเนาในสัญญาซึ่งพออนุมานได้ว่าเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 อันเป็นเวลาเกินหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามวรรคหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อได้มีการบอกกล่าวจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันก่อนฟ้องโดยชอบแล้ว ตามที่วินิจฉัยข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา 572 ที่บัญญัติว่า อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้คราว ประกอบกับผลแห่งการเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของตามมาตรา 573 หรือเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ตามมาตรา 574 รวมถึงการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 ที่ทรัพย์สินต้องกลับคืนสู่ความครอบครองของเจ้าของ หนี้ในการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของและค่าราคาใช้แทนที่เป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่อาจส่งมอบวัตถุแห่งหนี้ได้ โดยลักษณะจึงไม่ใช่อุปกรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 686 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดเมื่อมีการบอกกล่าวเกินหกสิบวันนับแต่ลูกหนี้ผิดนัด แต่สำหรับค่าขาดประโยชน์นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่มีสิทธิของผู้เช่าซื้อ และความเสียหายย่อมเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผู้เช่าซื้อยังไม่ยอมส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืน จึงเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยด้วยตามมาตรา 686 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้จำเลยที่ 2 รับผิดในค่าขาดประโยชน์เกินกว่าช่วงเวลาหกสิบวันนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดและให้รับผิดดอกเบี้ยผิดนัดนับถัดจากวันฟ้องมานั้น จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย
อนึ่ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 18 จึงให้คืนค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับค่าขาดประโยชน์ หากจำเลยที่ 1 ชำระไม่ครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนไม่เกิน 3,600 บาท แก่โจทก์ โดยไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ย คืนค่าขึ้นศาลและค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share