คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ใบหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์เป็นทรัพย์ที่มีสภาพ เช่นเดียวกับสังกมทรัพย์ ซึ่งสามารถนำใบหุ้นชนิดและประเภทเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนเท่ากันใช้แทนกันได้แม้จะเป็นใบหุ้นที่ซื้อมาในวันอื่นภายหลังก็ตาม เมื่อก่อนฟ้อง คดีนี้โจทก์ได้ซื้อหุ้นให้แก่จำเลยตามข้อตกลงถูกต้องครบถ้วนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำใบหุ้นบริษัทเดียวกันหมายเลขใด ๆ ซึ่งมีจำนวนหุ้นเท่ากันมาโอนให้แก่จำเลยได้ ดังนั้น การที่โจทก์ส่งมอบใบหุ้นพิพาทให้แก่กรมบังคับคดีในการบังคับคดีเอาแก่จำเลยเช่นนี้ถือว่าโจทก์ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดชำระเงินค่าหุ้นให้โจทก์ตามคำพิพากษา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 5,664,604.64 บาท แก่โจทก์ โดยหักเงินปันผล15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2522 ถึงวันฟ้องออกเสียก่อน แล้วให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันในต้นเงิน 4,754,759 บาทนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้น 50,000 บาท ชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเพียงจำนวนที่โจทก์ชนะคดีให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง 83,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์คืนใบหุ้นของบริษัทสหยูเนียน จำกัด จำนวน 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ100 บาท แก่จำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้โจทก์ใช้แทนเพียงจำนวนที่จำเลยชนะคดี ในการบังคับคดีจำเลยขอให้นำหุ้นของบริษัทต่าง ๆ รวม 5 บริษัทของจำเลยจำนวน 17,000 หุ้น ที่โจทก์ส่งให้กรมบังคับคดีออกขายในตลาดหลักทรัพย์แทนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นอนุญาตปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่23 กรกฎาคม 2530 ขายหุ้นได้เงิน 5,681,121.98 บาทตามหนังสือนำส่งเงินของกรมบังคับคดีลงวันที่ 16 กันยายน 2530และศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2530 ให้โจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไปได้
จำเลยยื่นคำร้องว่า ระหว่างพิจารณาคดีโจทก์ได้ขายหุ้นของจำเลยที่โจทก์เป็นตัวแทนซื้อให้จำเลยอันเป็นมูลเหตุในคดีนี้ไปแล้ว ภายหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาโจทก์ส่งใบหุ้นต่อกรมบังคับคดีปรากฏว่าหุ้นที่ส่งเป็นหุ้นที่เพิ่งซื้อใหม่ภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้วจำเลยจึงหลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาหรือรับผิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยเพียง940,652 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้รับเงินปันผลจากหุ้นของจำเลยทุกปีรวมเป็นเงิน 1,306,966 บาท จึงต้องนำเงินดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้ให้จำเลย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจึงต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวคิดเป็นเงิน657,493 บาท จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์น้อยลงหรือไม่ต้องรับผิดเลย
โจทก์คัดค้านว่า หุ้นชนิดเกี่ยวกัน จำนวนเท่ากัน ส่งมอบแทนกันได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้นำหุ้นออกขายในตลาดหลักทรัพย์แทนการขายทอดตลาดเป็นการยอมรับว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของจำเลยจำเลยไม่ชำระเงินตามฟ้องจึงต้องชำระดอกเบี้ยตามคำพิพากษาโจทก์รับเงินปันผลเพียง 888,827.99 บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าหุ้นโจทก์จึงยึดหน่วงเงินปันผลได้โดยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยแก่จำเลย และจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ โดยมีมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แก่จำเลยต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีในชั้นบังคับคดีโจทก์ส่งใบหุ้นของจำเลยที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ต่อกรมบังคับคดี ปรากฏว่าเป็นหุ้นที่โจทก์เพิ่งซื้อใหม่ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้วนอกจากนี้โจทก์ยังได้รับเงินปันผลจากหุ้นของจำเลยดังกล่าวอีกด้วย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ส่งมอบใบหุ้นของจำเลยซึ่งเป็นหุ้นที่ซื้อมาภายหลังให้แก่กรมบังคับคดีจะมีผลทำให้จำเลยหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ใบหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์เป็นทรัพย์ที่มีสภาพเช่นเดียวกับสังกมทรัพย์ ซึ่งสามารถนำใบหุ้นชนิดและประเภทเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนเท่ากันใช้แทนกันได้หาจำต้องเป็นใบหุ้นฉบับเดียวกับที่ซื้อไว้ด้วยไม่ และแม้จะเป็นใบหุ้นที่ซื้อมาในวันอื่นภายหลังก็ตาม เมื่อได้ความว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ซื้อหุ้นให้แก่จำเลยตามข้อตกลงถูกต้องครบถ้วนแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำใบหุ้นบริษัทเดียวกันหมายเลขใด ๆ ซึ่งมีจำนวนหุ้นเท่ากันมาโอนให้แก่จำเลยได้ดังนั้น การที่โจทก์ส่งมอบใบหุ้นพิพาทให้แก่กรมบังคับคดีในการบังคับคดีเอาแก่จำเลยเช่นนั้น ถือว่าโจทก์ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share