แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์นำเครื่องเอกซเรย์เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อที่จะส่งมอบให้แก่กรมตำรวจตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ได้ทำกับสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังแม้จะเป็นยุทธภัณฑ์แต่เมื่อกรมตำรวจมิได้รับเครื่องเอกซเรย์ไว้ในราชการและโจทก์ได้ส่งเครื่องเอกซเรย์กลับคืนไปให้บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศแล้วเครื่องเอกซเรย์จึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการซึ่งได้ยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2530ภาค4ประเภท13 การที่กรมศุลกากรจำเลยได้อนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับเครื่องเอกซเรย์ที่จำเลยนำเข้าเนื่องจากจำเลยได้รับหนังสือขอยกเว้นภาษีอากรขาเข้าจากกระทรวงมหาดไทยแต่ต่อมาจำเลยได้รับแจ้งจากกรมตำรวจผู้ที่จะรับเครื่องเอกซเรย์ไว้ใช้จากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังผู้ซื้อจากโจทก์ว่าเครื่องเอกซเรย์ไม่ตรงตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายและโจทก์ได้ส่งคืนบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศแล้วจำเลยชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการยกเว้นอากรได้เมื่อโจทก์เป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรขาเข้าให้จำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา41,10ทวิวรรคหนึ่งการที่โจทก์ได้ส่งเครื่องเอกซเรย์คืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ใช้ประโยชน์อย่างใดในราชอาณาจักรไม่ทำให้ความรับผิดของโจทก์ที่จะต้องเสียภาษีอากรเปลี่ยนแปลงไปเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการนำเข้าสำเร็จซึ่งโจทก์มีสิทธิจะจัดการกับสินค้าของโจทก์อย่างไรก็ได้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องเสียภาษีอากรให้จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ทำหนังสือสัญญาซื้อขายเครื่องเอกซเรย์โทรทัศน์วงจรปิด แบบกระเป๋าหิ้วจำนวน 2 ชุด เป็นเงิน 1,698,000 บาท กับสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังโดยเป็นราคายกเว้นภาษีอากรขาเข้า ต่อมากระทรวงการคลังได้มอบโอนกรรมสิทธิ์เครื่องเอกซเรย์ดังกล่าวให้แก่กรมตำรวจเมื่อสินค้าเครื่องเอกซเรย์โทรทัศน์วงจรปิด แบบกระเป๋าหิ้วดังกล่าวมาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพแล้ว กองพลาธิการ กรมตำรวจได้มีหนังสือขอผ่อนผันนำยุทธภัณฑ์ออกก่อนโดยวิธีการวางหนังสือค้ำประกัน จำเลยได้ตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 11กรกฎาคม 2534 โดยโจทก์ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าภาษีอากรและการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่า สินค้าเครื่องเอกซเรย์โทรทัศน์วงจรปิดที่นำเข้ามาไม่ตรงรุ่นตามที่โจทก์ทำสัญญาไว้กับสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังโจทก์จึงจัดส่งสินค้าเครื่องเอกซเรย์ทั้ง 2 ชัด ดังกล่าวคืนผู้ผลิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2534ซึ่งเป็นการส่งอย่างรีบด่วนโดยมิได้ทำใบขนส่งสินค้าแบบรีเอกซ์ปอร์ต(RE-EXPORT) พร้อมกันนั้นโจทก์ดำเนินการให้บริษัทผู้ผลิตจัดส่งเครื่องเอกซเรย์รุ่นที่ถูกต้องตรงตามสัญญามาให้โจทก์ต่อมาบริษัทผู้ผลิตได้จัดส่งสินค้าเครื่องเอกซเรย์มาให้ใหม่ซึ่งจำเลยได้พิจารณายกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้ายุทธภัณฑ์ที่โจทก์นำเข้ามาดังกล่าวแล้ว ส่วนสินค้าเครื่องเอกซเรย์ที่นำเข้าครั้งแรกและโจทก์ส่งกลับคืนไปนั้น ในชั้นแรกจำเลยอนุมัติให้ยกเว้นอากรขาเข้าตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530ภาค 4 ประเภท 13 แต่ต่อมาจำเลยมีคำสั่งยกเลิกการอนุมัติและมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปชำระค่าภาษีอากรและปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรให้ถูกต้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อนายด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2525 ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2536จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าได้พิจารณาแล้วไม่ยกเว้นอากรการนำเข้าโจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะการที่โจทก์มิได้ปฏิบัติพิธีการส่งออกสำหรับสินค้าเครื่องเอกซเรย์ที่นำเข้าครั้งแรกให้ถูกต้องไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงสภาพของสินค้าซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์โดยสภาพอยู่แล้วให้กลายเป็นสินค้าชนิดอื่นซึ่งมิใช่ยุทธภัณฑ์อันจะพึงต้องชำระค่าภาษีอากร ทั้งสินค้าเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าวโจทก์มิได้มีการบริโภคหรือใช้สอยและโจทก์ได้ส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปี โจทก์จึงไม่ยอมชำระค่าภาษีอากรสำหรับการนำเข้ายุทธภัณฑ์ครั้งแรก แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระเงินแทนโจทก์จำนวน 700,000 บาท โจทก์จึงได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้จำเลยเป็นค่าภาษีอากรเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2536 ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรจำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์นำสินค้ายุทธภัณฑ์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยขอผ่อนผันรับสินค้าไปก่อนและทำสัญญาประกันไว้ต่อจำเลยว่าโจทก์จะมาปฏิบัติพิธีการในการนำเข้าให้ครบถ้วนถูกต้องภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับการตรวจปล่อยสินค้า เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรให้ครบถ้วนถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาทั้งสินค้าที่โจทก์นำเข้าดังกล่าวไม่ตรงตามรุ่นที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ทำกับทางราชการและทางราชการมิได้รับไว้ใช้ในราชการ สินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการอันจะได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 การที่จำเลยอนุมัติยกเว้นอากรสินค้าที่นำเข้าครั้งแรกให้โจทก์เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสำคัญผิดว่าทางราชการได้รับสินค้านั้นไว้ใช้ในทางราชการแล้ว เมื่อจำเลยทราบข้อเท็จจริงในภายหลังว่าสินค้าดังกล่าวไม่ตรงตามคุณลักษณะของสัญญาทางราชการจึงมิได้รับไว้ใช้ในทางราชการ และโจทก์ได้ส่งสินค้ากลับคืนไปยังผู้ผลิตเพื่อให้จัดส่งสินค้าที่ถูกต้องมาเปลี่ยนทดแทน จำเลยจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการอนุมัติยกเว้นอากรสินค้าที่โจทก์นำเข้าครั้งแรกและอนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าใหม่เพื่อเปลี่ยนทดแทนของเดิม เมื่อโจทก์ส่งสินค้าที่นำเข้าครั้งแรกออกไปนอกราชอาณาจักรโดยยังมิได้ปฏิบัติพิธีการนำเข้าให้ถูกต้องและยังมิได้ชำระอากรขาเข้า จำเลยจึงชอบที่จะเรียกให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 700,000 บาท ตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์ได้ทำสัญญาขายเครื่องเอกซเรย์โทรทัศน์วงจรปิด แบบกระเป๋าหิ้วจำนวน2 ชุด ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 9 ถึง 11 และสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังได้ทำหนังสือโอนกรรมสิทธิ์เครื่องเอกซเรย์ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวให้แก่กรมตำรวจ วันที่ 9 กรกฎาคม 2534 โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 89 สำแดงรายการสินค้าว่าเป็นเครื่องเอกซเรย์โทรทัศน์วงจรปิด แบบกระเป๋าหิ้ว จำนวน 2 ชุด เข้ามาในราชอาณาจักรทางอากาศยานถึงท่าอากาศยานกรุงเทพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2534และโจทก์ได้ขอผ่อนผันรับของออกไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากรโดยทำสัญญาประกันให้ไว้แก่จำเลยว่า โจทก์จะมาปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่วันตรวจปล่อยของ และโจทก์นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งค้ำประกันโจทก์จำนวนเงิน 700,000 บาท มาวางเป็นประกันตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 90 ถึง 93 จำเลยได้ตรวจปล่อยเครื่องเอกซเรย์พิพาทให้โจทก์รับไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2534 ต่อมากระทรวงมหาดไทยทำหนังสือถึงจำเลยขอยกเว้นภาษีอากรสำหรับเครื่องเอกซเรย์พิพาทโดยรับรองว่าสิ่งของดังกล่าวได้จัดส่งมาเพื่อใช้ในราชการ ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 176 ครั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2534กรมตำรวจมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าเครื่องเอกซเรย์พิพาทไม่ตรงตามคุณลักษณะที่กำหนดในสัญญาซื้อขาย โจทก์ได้จัดส่งเครื่องเอกซเรย์พิพาทคืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ และโจทก์ได้จัดส่งสิ่งของมาเปลี่ยนทดแทนแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 36จำเลยจึงมีคำสั่งยกเลิกการยกเว้นอากรสำหรับเครื่องเอกซเรย์พิพาทและให้โจทก์นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระพร้อมทั้งปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร โจทก์ไม่นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ค้ำประกันนำเงินไปชำระตามสัญญาประกัน โจทก์จึงนำเงินจำนวน 700,000 บาทไปชำระให้จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีอากรในการนำเครื่องเอกซเรย์พิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า เครื่องเอกซเรย์พิพาทเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการ โจทก์จึงได้รับยกเว้นอากรนั้นเห็นว่า แม้เครื่องเอกซเรย์พิพาทที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อที่จะส่งมอบให้แก่กรมตำรวจตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ได้ทำกับสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง จะเป็นยุทธภัฑณ์ก็ตาม แต่ปรากฏว่ากรมตำรวจมิได้รับเครื่องเอกซเรย์พิพาทไว้ในราชการ ทั้งโจทก์ได้ส่งเครื่องเอกซเรย์พิพาทกลับคืนไปให้บริษัทผู้ผลิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว เครื่องเอกซเรย์พิพาทจึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการ ซึ่งได้ยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 ดังนั้นแม้จำเลยจะได้อนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับเครื่องเอกซเรย์พิพาทเนื่องจากจำเลยได้รับหนังสือขอยกเว้นภาษีอากรขาเข้า ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 176 จากกระทรวงมหาดไทย แต่ต่อมาจำเลยได้รับแจ้งจากกรมตำรวจว่าเครื่องเอกซเรย์พิพาทไม่ตรงตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายและโจทก์ได้ส่งเครื่องเอกซเรย์พิพาทคืนบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศแล้วจำเลยจึงชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการยกเว้นอากรได้ โจทก์เป็นผู้นำเข้าเครื่องเอกซเรย์พิพาท ซึ่งตามบทบัญญัติ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติว่าการนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือที่นำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจากเรือ หรือท่าที่มีชื่อส่งของถึงและข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าโจทก์นำเครื่องเอกซเรย์พิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรสำเร็จแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรให้จำเลยตามมาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติว่าความผิดในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ส่งเครื่องเอกซเรย์พิพาทคืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยมิได้ใช้ประโยชน์อันใดในราชอาณาจักรนั้นก็หาทำให้ความรับผิดของโจทก์ในอันที่จะต้องเสียภาษีอากรเปลี่ยนแปลงไปได้ไม่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการนำเข้าสำเร็จซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิจะจัดการกับสินค้าของโจทก์อย่างไรก็ได้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าในกรณีที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องเสียภาษีอากรให้จำเลย โดยที่โจทก์ยังมิได้ชำระค่าภาษีอากรให้แก่จำเลย แต่ได้ทำสัญญาประกันให้ไว้แก่จำเลยว่าจะมาปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องภายใน 30 วันนับแต่วันปล่อยของ และนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัดมาวางเป็นหลักประกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เช่นนี้ เมื่อโจทก์มิได้มาปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องภายในกำหนด โจทก์จึงผิดสัญญาประกัน โจทก์ไม่มีสิทธิขอเงินที่ได้จ่ายให้แก่จำเลยตามสัญญาประกันคืนศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน