คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5876/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับพวกได้ไปที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองแล้วได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองว่า จำเลยกับพวกสามารถส่งบุตรของผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้โดยต้องเสียเงินแก่จำเลยกับพวกผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อจึงได้มอบเงินจำนวน210,000 บาท แก่จำเลยกับพวกไป โดยความจริงจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ และการที่ผู้เสียหายทั้งสองติดตามไปที่บ้านของจำเลย แต่จำเลยกลับปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น แสดงว่าขณะที่จำเลยกับพวกไปชักชวนผู้เสียหายทั้งสองก็ดี และขณะที่จำเลยกับพวกไปรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองก็ดี จำเลยมีเจตนาที่จะไม่ส่งบุตรของผู้เสียหาย ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นจำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสอง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 210,000 บาทกับนับโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกสำนวนละ 1 ปี 6 เดือนโดยให้นับโทษจำคุกจำเลยสำนวนที่สองต่อจากสำนวนแรกให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 210,000 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสอง กับร้อยเอกสงวน มีศรี และนายดาบตำรวจโม กล้าหาญ สามีผู้เสียหายทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าบ้านผู้เสียหายทั้งสองอยู่ใกล้กัน ระหว่างวันเวลาตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยกับพวกอีก 2 คน ได้มาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองที่อำเภอหนองบัวลำภูจังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) ชักชวนบุตรของผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานโรงแรมที่ประเทศญี่ปุ่นอ้างว่าจะมีรายได้เดือนละ 60,000 บาท หากตกลงไปจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 210,000 บาท ผู้เสียหาย ทั้งสองเห็นว่ามีรายได้ดีจึงหลงเชื่อมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยกับพวกที่บ้านนางสุพัตรา หลังจากนั้นจำเลยกับพวกได้โทรศัพท์มาแจ้งผู้เสียหายทั้งสองขอเลื่อนการเดินทางหลายครั้งและในที่สุดจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งบุตรของผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ผู้เสียหายทั้งสองติดตามไปที่บ้านจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธว่า ไม่รู้ไม่เห็นผู้เสียหายทั้งสองจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยกับนายเผ่าพงษ์และนางถนอมศรีพี่สาวนายเผ่าพงษ์เคยไปที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองจริง แต่ไปคนละครั้งตอนที่นายเผ่าพงษ์และนางถนอมศรีพูดชักชวนให้บุตรของผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นจำเลยไม่รู้เห็นด้วยเพราะออกไปเดินเล่นข้างนอก ไม่ได้อยู่ฟังตลอดส่วนข้อที่ว่าหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน จำเลยและนายเผ่าพงษ์ได้ไปรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองที่บ้านนางสุพัตราผู้เสียหายนั้น จำเลยไม่ได้เบิกความปฏิเสธพยานโจทก์ทุกปากดังกล่าวเบิกความยืนยันว่า หลังจากที่ชักชวนแล้วผู้เสียหายทั้งสองตกลงให้บุตรไปทำงาน จึงนัดให้จำเลยกับพวกมารับเงินจำเลยและนายเผ่าพงษ์จึงไปรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองที่บ้านนางสุพัตราผู้เสียหาย โดยนางถนอมศรีไม่ได้ไปด้วย เห็นว่า พยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุผลที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อได้ว่าจำเลยและนายเผ่าพงษ์ไปรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองจริง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นภริยานายเผ่าพงษ์เพียงแต่เคยไปเที่ยวด้วยกันจึงไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับนายเผ่าพงษ์นั้นเห็นว่า แม้จะฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นภริยานายเผ่าพงษ์ดังที่พยานโจทก์เบิกความแต่จำเลยและนายเผ่าพงษ์ก็อาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันได้ หากได้กระทำโดยมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด ซึ่งตามพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยกับพวกได้ไปที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองแล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองว่า จำเลยกับพวกสามารถส่งบุตรของผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้โดยต้องเสียเงินแก่จำเลยกับพวกผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อจึงได้มอบเงินจำนวนคนละ 210,000 บาท แก่จำเลยกับพวกไป โดยความจริงจำเลยกับพวกไม่สามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้และการที่ผู้เสียหายทั้งสองติดตามไปที่บ้านของจำเลย แต่จำเลยกลับปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น แสดงว่าขณะที่จำเลยกับพวกไปชักชวนผู้เสียหายทั้งสองก็ดี และขณะที่จำเลยกับพวกไปรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองก็ดี จำเลยมีเจตนาที่จะไม่ส่งบุตรของผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสอง แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยเป็นหญิง ขณะกระทำผิดอายุประมาณ 23 ปีมีบุตร 2 คน สามีถึงแก่ความตายไปแล้ว ปัจจุบันจำเลยและบุตรอาศัยอยู่กับบิดามารดา และจำเลยเป็นนักศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสกลนครตามบัตรประจำตัวนักศึกษาเอกสารหมาย ล.1 และคดีสองสำนวนนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 1 ปี 6 เดือนซึ่งเป็นการลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 2 ปี และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาส จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share