คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างและที่ดินคนละแปลง แต่ร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เป็นวิธีการดำเนินคดี ไม่ใช่อำนาจฟ้อง จึงมิใช่ปัญหา อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นไว้จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40719, 40720 และ 40721 ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโดยมีจำเลยเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านของโจทก์ดังกล่าว ต่อมาโจทก์ทั้งสามบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหาย เพราะขาดประโยชน์จากการที่โจทก์แต่ละคนสามารถนำที่ดินและบ้านออกให้ผู้อื่นเช่า จะได้ค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท 4,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 231 ตรอกบ้านช่างหล่อเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 40719, 40720 และ 40721 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง)อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และเดือนละ 4,000 บาทแก่โจทก์ที่ 12 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป
จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเนื่องจากจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของมาเกิน 10 ปีแล้ว ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์และบังคับโจทก์ทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40719, 40720 และ 40721 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง)อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเพียงผู้อาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 231 และที่ดินโฉนดเลขที่ 40719, 40720 และ 40721ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3คนละ 1,000 บาท ต่อเดือนกับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินและบ้านพิพาท สำหรับฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนฎีกาข้อที่ว่า โจทก์แต่ละคนเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างและที่ดินคนละแปลง แต่ร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นไว้ จำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่จะเป็นโจทก์ร่วมกันได้หรือไม่ เป็นเพียงวิธีดำเนินคดีไม่ใช่อำนาจฟ้องจึงมิได้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share