คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5273/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิที่ทำการถมทางภารจำยอมเพื่อเป็นการรักษาและใช้ภารจำยอมเนื่องจากทางราชการได้ก่อสร้างถนนของทางราชการสูงกว่าทางภารจำยอม จึงต้องถมทางภารจำยอมให้สูงเสมอ กับถนนของทางราชการได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 287 และ 288ที่ดินของโจทก์มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร เป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปี ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางภารจำยอม ระหว่างเดือนเมษายน 2533 ถึงเดือนพฤษภาคม 2533 จำเลยสร้างรั้วปิดกั้นทางภารจำยอมดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสื่อมประโยชน์ในการใช้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกจากทางภารจำยอม แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กั้นทางภารจำยอมออกไปให้พ้นจากทางภารจำยอม ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับทางภารจำยอมอีกต่อไป กับให้จำเลยไปจดทะเบียนทางภารจำยอมกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างว่าเป็นทางภารจำยอมนั้น จำเลยเข้าทำประโยชน์ตลอดมาไม่เคยยินยอมให้โจทก์หรือบุคคลอื่นเดิมผ่าน เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2533โจทก์บุกรุกเข้าไปในที่ดินจำเลยพร้อมกับทำคันดินทับถมที่ดินกว้าง 1.5 เมตรเศษ ยาว 20 เมตรเศษ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายไม่ได้ใช้ที่ดิน ขอให้ยกฟ้องโจทก์และขอให้บังคับโจทก์ปรับสภาพที่ดินที่โจทก์ทำคันดินทับถมเนื้อที่กว้างประมาณ 1.5 เมตรยาว 20 เมตร ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและชดใช้ค่าเสื่อมประโยชน์ในที่ดินเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะปรับสภาพที่ดินให้แล้วเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า มิได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของจำเลย ที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์และบุคคลอื่นใช้สัญจรออกสู่ทางสาธารณะมานานกว่า 10 ปี และระหว่างเดือนมีนาคม 2533 ถึงเดือนเมษายน 2533 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก่อสร้างถนนลูกรังสายสุวรรณภูมิ-ตาหยวก โดยโกยดินข้าง ๆมาพูนทำเป็นถนน ทำให้ทางภารจำยอมมีระดับต่ำลง ต่อมาสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทถมดินในทางภารจำยอมให้เท่าระดับถนนที่ก่อสร้างโดยความยินยอมของจำเลยและผู้ใช้ทางภารจำยอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางเดินพิพาทในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 81 ตำบลสระคูอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ของจำเลยกว้าง 3.80 เมตรยาว 18 เมตร ตามแผนที่พิพาทภายใต้พื้นที่สีแดงตกเป็นภารจำยอมของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 287และ 288 ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดของโจทก์ให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กั้นทางภารจำยอมออกให้พ้นจากทางภารจำยอม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์นางจินดา ตรีชนะสมุทร นายบุญมี หินกอง นายอ่อนจันทร์ สุดบางธงและนางนกเล็ก ใยบัว เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตรเป็นเส้นทางเข้าออกไปสู่ถนนสายสุวรรณภูมิ – ตาหยวก ตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินมาจากนางหล้าเป็นเวลา 30 ปีแล้ว เห็นว่าพยานโจทก์ที่มาเบิกความต่อศาลต่างไม่ใช่ญาติหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโจทก์ ทั้งนายบุญมีเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านและนายอ่อนจันทร์ เป็นกรรมการสุขาภิบาลในท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่นอกจากนี้นายถวิล รัตนวงศ์ และนายเรียน แปลกสินธ์ุพยานจำเลยกลับเบิกความเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ว่าเคยเห็นโจทก์ใช้ที่ดินพิพาทเป็นเส้นทางเข้าออกที่ดินโจทก์มากว่า 20 ปีแล้ว ส่วนจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลยนายบรรลุบุตรชายและนายปราโมทย์ บุตรเขยซึ่งล้วนแต่เป็นญาติของจำเลยเท่านั้นมาเบิกความพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ลุ่ม และโจทก์มีทางออกสู่ถนนสาธารณะทางด้านทิศตะวันออกแล้วไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะมีใช้ทางเดินพิพาทนั้น เห็นว่า ที่ดินแปลงหนึ่งนั้นแม้มีทางออกทางอื่นได้แล้ว ก็อาจก่อให้เกิดทางภารจำยอมทางอื่นอีกได้ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แล้วแม้มีทางออกทางอื่นก็ไม่ทำให้ทางภารจำยอมที่มีอยู่แล้วสิ้นไป ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย เป็นการรับฟังพยานนอกเหนือสำนวนนั้นเห็นว่า การรับฟังดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ได้ทางภารจำยอมนั้นมาโดยอายุความนั่นเอง จึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวนแต่อย่างใด
สำหรับที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บุกรุกทำคันดินทับถมที่นาของจำเลยทำให้จำเลยเสียหายไม่สามารถปลูกข้าวได้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 บัญญัติว่าเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภารจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์ แม้จะฟังว่าโจทก์กระทำดั่งที่จำเลยฎีกาแต่โจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะกระทำการถมทางพิพาทเพื่อเป็นการรักษาและใช้ภารจำยอม เนื่องจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้ก่อสร้างถนนสายสุวรรณภูมิ-ตาหยวก สูงกว่าที่พิพาท จึงต้องถมทางพิพาทให้สูงเสมอกับถนนของทางราชการการกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดต่อจำเลย”
พิพากษายืน

Share