แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าจำเลยมิได้ละทิ้งที่จะใช้ประโยชน์ในทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์เป็นเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 ทางภารจำยอมจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ของประชาชน ซึ่งศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คำว่าหมดประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1400 หมายความว่า ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์ต่อไปได้ขณะใดขณะหนึ่งเพราะหากกลับใช้ภารจำยอมได้เมื่อใดภารจำยอมนั้นก็กลับมีขึ้นมาอีกแต่ต้องยังไม่พ้นอายุความตามมาตรา 1399 เมื่อทางภารจำยอมยังมีสภาพเป็นทางอยู่เจ้าของสามยทรัพย์จะใช้เมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่นและมีสิทธิผ่านที่ดินแปลงดังกล่าวเข้าออกทางสาธารณะได้ไม่มีผลกระทบถึงภารจำยอมซึ่งเป็นทรัพยสิทธิระหว่างสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ เพราะกฎหมายมุ่งถึงประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ ฉะนั้นทางภารจำยอมจึงยังไม่หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ ยังไม่สิ้นไปตามมาตรา 1400
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3248 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 40109 และ 3235 ทั้งนี้จำเลยได้รับโอนที่ดิน 2 แปลง ดังกล่าวจากนางรัตนา กำลังเอกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 ซึ่งนางรัตนาได้รับโอนที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวมาจากพลตรีสนิท ศรีศิริ และนายอัมพร ศรีศิริเจ้าของที่ดินเดิม เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2529 โดยก่อนที่พลตรีสนิทและนายอัมพรจะโอนขายให้แก่นางรัตนานั้น โจทก์กับพลตรีสนิทและนายอัมพรได้จดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ ส่วนที่ดินของพลตรีสนิทและนายอัมพรอยู่ในฐานะสามยทรัพย์ต่อมานายรัตนาได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์ทั้ง 2 แปลง ดังกล่าวจากเจ้าของเดิม และโอนขายให้แก่จำเลยอีกทอดหนึ่ง จำเลยจึงอยู่ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ในที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวตลอดมาเนื่องจากขณะนี้ทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ได้หมดประโยชน์แก่ที่ดินสามยทรัพย์ของจำเลยแล้ว ทั้งนี้เพราะจำเลยได้ซื้อที่ดินแปลงอื่นซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดินสามยทรัพย์ของจำเลยสำหรับใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของจำเลยทั้งสองแปลงดังกล่าวไปสู่ถนนสาธารณะเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางเข้าออกจากที่ดินเป็นสามยทรัพย์ของจำเลยไปสู่ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ประชาราษฎร์สาย 2) อันเป็นถนนสาธารณะนั้น มีความกว้าง รถยนต์วิ่งสวนทางเข้าออกได้โดยสะดวกส่วนทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์นั้น ได้จดทะเบียนทางภารจำยอมในประเภททางเดินเท่านั้น ซึ่งจำเลยไม่อาจจะใช้เป็นทางสำหรับรถยนต์เข้าออกจากถนนสาธารณะผ่านทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ไปยังที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์ของจำเลยได้ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 3248ตำบลสวนใหญ่ (บ้านสวนใหญ่) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ)จังหวัดนนทบุรี ที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 40109 และ 3235 ตำบลสวนใหญ่ (บ้านสวนใหญ่)อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 166371สำหรับเป็นทางออกสู่ถนนพิบูลย์สงครามอีกทางหนึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทางภารจำยอมที่พิพาทจึงยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินสามยทรัพย์อยู่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 3248 ตำบลสวนใหญ่ (บ้านสวนใหญ่)อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจำเลยตามโฉนดเลขที่ 40109 และ 3235ตำบลสวนใหญ่ (บ้านส่วนใหญ่) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ)จังหวัดนนทบุรี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ละทิ้งที่จะใช้ประโยชน์เป็นเวลา 10 ปี ทางภารจำยอมจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยหลักแหล่งข้อหาแต่เพียงว่าทางภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ตามมาตรา 1400 เท่านั้นการที่ศาลอุทธรณ์นำเอาข้อกฎหมายคนละเรื่องมาวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงมาแล้วว่า ทางภารจำยอมเข้าออกในที่ดินของโจทก์เป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นสามยทรัพย์ทางภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ยังไม่หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ของจำเลย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นแห่งคดีที่โจทก์ยกขึ้นอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้อง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไปด้วยว่าจำเลยมิได้ละทิ้งที่จะใช้ประโยชน์เป็นเวลา 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 ทางภารจำยอมจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่นั้น แม้จะเป็นปัญหาที่โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างเท่ากับเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า กรณีของจำเลยก็มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยละทิ้งที่จะใช้ประโยชน์ ทางภารจำยอมจึงยังคงมีอยู่ อันเป็นการวินิจฉัยประกอบกับข้อที่โจทก์อุทธรณ์นั่นเอง จึงหาใช่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นแต่ประการใดไม่ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ซื้อที่ดินแปลงอื่นซึ่งติดกับทางสาธารณะแล้วเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะด้านอื่นแล้วทางภารจำยอมที่ผ่านที่ดินของโจทก์ย่อมหมดประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1400 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้จดทะเบียนทางภารจำยอมประเภททางเดิน กว้าง 6 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 3248 เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3235 และ 40109 ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ซอยบุรีรังสรรค์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 3235 และ 40109 ตกเป็นของจำเลย และจำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 166371 ซึ่งติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3235 ด้านหนึ่งและติดกับถนนสายกรุงเทพ-นนทบุรี อีกด้านหนึ่งและจำเลยได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงให้ทำทางกว้าง 4 เมตร ผ่านเข้าออกสู่ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ได้ เห็นว่า การที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3248 ของโจทก์ต้องตกอยู่ในภารจำยอมให้เจ้าของโฉนดเลขที่ 3235 และ 40109 เข้าออกได้ ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3235 และ 40109 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1387 และแม้เจ้าของที่ดินภารยทรัพย์และสามยทรัพย์ตกเป็นเจ้าของเดียวกัน หากต้องการให้ภารจำยอมสิ้นไปก็ต้องไปจดทะเบียนเพิกถอน เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งถึงประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์เป็นข้อสำคัญ มาตรา 1400 วรรคแรก บัญญัติว่าถ้าภารจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ท่านว่าภารจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภารจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภารจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน เห็นว่า คำว่าหมดประโยชน์ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวหมายความว่า ไม่สามารถจะใช้ประโยชน์ต่อไปได้ขณะใดขณะหนึ่งเพราะหากกลับใช้ภารจำยอมได้เมื่อใด ภารจำยอมนั้นก็กลับมีขึ้นมาอีกแต่ต้องยังไม่พ้นอายุความตามมาตรา 1399 ในคดีนี้ทางภารจำยอมยังมีสภาพเป็นทางอยู่ เจ้าของสามยทรัพย์จะใช้เมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่นและมีสิทธิผ่านที่ดินแปลงดังกล่าวเข้าออกทางสาธารณะได้ ไม่มีผลกระทบถึงภารจำยอมซึ่งเป็นทรัพยสิทธิระหว่างสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ เพราะกฎหมายมุ่งถึงประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญดังวินิจฉัยข้างต้น ฉะนั้นทางภารจำยอมในคดีนี้จึงยังไม่หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ ยังไม่สิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1400 ตามที่โจทก์ฎีกา”
พิพากษายืน