คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786-788/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วันที่ 12 พฤษภาคม 2491 โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2491 จึงยังอยู่ในกำหนดที่โจทก์จะยื่นฎีกาได้
การฆ่าสุกรก่อน วันที่ระบุไว้ในใบอนุญาตต้องมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอากรฆ่าสัตว์ 2488 มาตรา 12 ไม่ใช่มาตรา11
ว. จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลประจำโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับออกใบอนุญาตให้ฆ่าสัตว์แต่อย่างใด ว. จำเลยได้แก้วันที่ในใบอนุญาต โดย จ.จำเลยเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้แก้ดังนี้ ถือได้ว่า ว. จำเลยได้ทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งตนอยู่ในบังคับบัญชาโดยเชื่อว่าเป็นการชอบและมีเหตุผลอันสมควรไม่ควรรับอาญาตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 52(2)

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยฆ่าสุกรตามคำสั่งของนายพยูร เจ้าของสุกรว่าได้รับอนุญาตให้ฆ่าโดยถูกต้องแล้ว สำนวนที่ 2โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมใบอนุญาตฆ่าสุกรของเทศบาลเมืองพระประแดงสำนวนที่ 3 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมใบอนุญาตฆ่าสุกรของเทศบาลพระประแดงและกระทำพยานเท็จ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยในสำนวนที่ 1 มีผิดตามฟ้องให้ปรับคนละ 580 บาท เพิ่มโทษนายเจ็งอี่ นายอั๋น นายกุ่ยจำเลย คงปรับคนละ 773 บาท 33 สตางค์ นายแจ่ม นายวรวุธจำเลยในสำนวนที่ 2 และนายใหญ่ นายสุมนต์จำเลยในสำนวนที่ 3 มีผิดตามมาตรา 229 กระทงหนึ่ง นายแจ่มจำเลยมีผิดตามมาตรา 230 อีกกระทงหนึ่งให้รวมกระทงโทษจำคุกนายแจ่ม นายวรวุธ นายใหญ่ นายสุมนต์คนละ 5 ปี นายพยูรจำเลยให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยในคดีแรกกับนายวรวุธจำเลยในสำนวนที่ 2 ไม่มีความผิด

โจทก์ฎีกา นายแจ่ม นายใหญ่ นายสุมนต์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

คดีนี้ จำเลยฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2491 โจทก์ยื่นฎีกาวันที่ 12 มิถุนายน 2491 จึงอยู่ในกำหนดที่โจทก์จะยื่นฎีกาได้

สำหรับคดีแรกที่นายทงจั๊วกับพวกเป็นจำเลยนั้นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันฆ่าสุกรก่อนวันที่ระบุไว้ในใบอนุญาต จำเลยแก้ว่า จำเลยฆ่าสุกรรายนี้ตามคำสั่งของนายพยูรเจ้าของสุกร ซึ่งอ้างว่า ได้รับอนุญาตถูกต้องแล้ว ข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่า ใบอนุญาตฆ่าสุกรมีการแก้วันที่ขึ้นภายหลัง เกิดจากการคบคิดที่กระทำขึ้นโดยมิชอบ ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยสุจริต หรือเข้าใจผิดแต่ประการใด จะยกเอากฎหมายลักษณะอาญามาตรา 52 มาใช้บังคับแก่จำเลยไม่ได้เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องฟังบังคับบัญชา ของเจ้าพนักงานนั้นการกระทำของจำเลยควรมีความผิดตาม พระราชบัญญัติอากรฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2488 มาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 6 ดังโจทก์ขอ หาใช่มาตรา 11 ไม่

สำหรับนายวรวุธจำเลยนั้น ได้ความว่า จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลประจำโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลมีหน้าที่ตรวจสอบใบอนุญาตให้ฆ่า กับสุกรที่ฆ่าและตีตราสุกรที่ฆ่า ไม่มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับออกใบอนุญาตให้ฆ่าแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้แต่เพียงว่า นายวรวุธจำเลยได้แก้วันในใบอนุญาตจากวันที่ 10 เป็นวันที่ 9 รวม 6 ฉบับ โดยนายแจ่มจำเลยซึ่งเป็นเทศมนตรี และเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งให้แก่ จึงพอถือได้ว่านายวรวุธจำเลยได้ทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งตนอยู่ในบังคับบัญชา โดยเชื่อว่าเป็นการชอบ และมีเหตุผลอันสมควร ไม่ควรได้รับอาญา ตามมาตรา 52(2)

พิพากษาแก้ว่า นายทงจั๊วกับพวกจำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติอากรฆ่าสัตว์ 2488 มาตรา 12 ให้ปรับคนละ 60 บาท เพิ่มโทษนายเจ็งอี่นายอั๋นนายกุ่ยจำเลยตามมาตรา 72 คงปรับจำเลยทั้ง 3 คนละ 80 บาท นอกจากแก้คงยืน

Share