คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 วรรคสามผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินและเข้าถือเอาตั๋วแลกเงินนั้นจะมีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันตามตั๋วแลกเงินได้เฉพาะผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนเท่านั้น สำหรับผู้จ่ายที่ได้รับรองตั๋วแลกเงิน ย่อมอยู่ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินผู้สั่งจ่ายไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนผู้จ่าย ผู้จ่ายจึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ผู้สั่งจ่ายได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 กันยายน2533 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 3 รวม 4 อันดับ อันดับที่ 1 หนี้ตามคำขอออกหนังสือค้ำประกัน อันดับที่ 2 หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันดับที่ 3 หนี้เงินกู้ และอันดับที่ 5 หนี้อาวัลตั๋วเงินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 153,169,191.02 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 108 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่าควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 1, 2 และ 3 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 รวมเป็นเงิน 135,178,718.44 บาท โดยในหนี้ดังกล่าวให้ลูกหนี้ที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 19,280,000 บาท ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยมีเงื่อนไขในหนี้อันดับที่ 1 เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้แก่กรมชลประทานกรมทางหลวงและการเคหะแห่งชาติแล้ว และหากได้รับชำระหนี้อันดับที่ 1, 2 และ 3 จากนายทองเธียร กุยกานนท์ นายคมจักร ศักดิ์ศรี นายชนัฎ เรืองกฤตยา นายสมาน เลิศวิทยา นายทองชัย แพเจริญ นายสันติ พร้อมทวีสิทธิ์ นายมานะ ปางศรีบริษัทไทยพัฒนาวิสาหกิจ จำกัด นายสมเกียรติ ยืนยงวัฒนากรและนายปรีชา อภินันท์กูล ผู้ค้ำประกันร่วมหรือบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11014 ถัง 11023, 11177 ถึง 11185, 11062,11064, 11066 และ 7426 ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งเหนือ)อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นภายหน้าไปแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น สำหรับหนี้อันดับที่ 4 และส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 4 ซึ่งได้รับรองตั๋วแลกเงินรวม 116 ฉบับ เป็นเงิน 19,996,724.08 บาทหรือไม่ เพียงใด ปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันมาในชั้นนี้ฟังยุติตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ลูกหนี้ที่ 1 ได้ออกตั๋วแลกเงินรวม116 ฉบับ สั่งให้เจ้าหนี้ สำนักพหลโยธิน จ่ายเงินให้แก่บุคคลที่ระบุในตั๋วแลกเงินโดยเจ้าหนี้ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินใต้ข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความว่า “ข้าพเจ้าธนาคารกสิกรไทย (สำนักพหลโยธิน) รับรองจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนี้” ปรากฏตามตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ.44/1 ถึง จ.44/116 อันเป็นการรับรองตั๋วแลกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 931 เมื่อตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ ผู้ทรงได้เรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงิน เจ้าหนี้ได้จ่ายเงินไปตามตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ปัญหาตามฎีกาซึ่งเจ้าหนี้ฎีกาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 967 นั้น เห็นว่า มาตรา 967 บัญญัติว่า “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดีสลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัวหรือรวมกันก็ได้ โดยมิพักต้องดำเนินการตามลำดับที่บุคคลเหล่านั้นมาต้องผูกพัน
สิทธิเช่นเดียวกันนี้ ย่อมมีแก่บุคคลทุกคนซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินและเข้าถือเอาตั๋วแลกเงินนั้น ในการที่จะใช้บังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน ฯลฯ”ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าววรรคสาม ผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินและเข้าถือเอาตั๋วแลกเงินและเข้าถือเอาตั๋วแลกเงินนั้นจะมีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันตามตั๋วแลกเงินได้เฉพาะผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตนเท่านั้น ดังนี้ เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้จ่ายและได้รับรองตั๋วแลกเงินอันต้องผูกพันจ่ายเงินตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตามมาตรา 937 ย่อมอยู่ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนเจ้าหนี้ตามมาตรา 967 วรรคสาม เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบังคับเอาแก่ลูกหนี้ที่ 1 ได้”
พิพากษายืน

Share