แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ก่อนเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดไม่ต้องมาทำงาน โดยจะจ่ายค่าจ้างให้กึ่งหนึ่ง แต่โจทก์ทั้งหมดไม่พอใจจึงไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม การที่โจทก์ทั้งหมดหยุดงานเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง มิใช่เป็นการนัดหยุดงานเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่มีความผิด จึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ให้แก่โจทก์ทั้งหมด ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ได้นิยามคำว่า นายจ้าง ไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล ให้หมายถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วย ต้องร่วมกันรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กำหนดให้ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เลิกจ้างโจทก์โดยกระทำภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 823
ย่อยาว
คดีทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 341
โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน จำเลยทั้งสามเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดโดยมีวันเริ่มทำงาน ตำแหน่ง และอัตราค่าจ้างสุดท้ายตามฟ้องแต่ละสำนวน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 จำเลยทั้งสามประกาศเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ด โดยมิได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่าย นอกจากนี้ยังต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ด
จำเลยทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนให้การว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2538 พนักงานของจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือร่วมกันนัดหยุดงานที่หน้าบริษัทจำเลยที่ 1 และไปที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 2 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2538โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกได้ยกขบวนมาประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมโดยโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกร่วมกันนัดหยุดงานเกินกว่า7 วัน นอกจากนี้โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกได้ร่วมกันทำลายเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตรองเท้าและทรัพย์สินเครื่องใช้ในสำนักงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จำเลยที่ 1 ได้ชี้แจงสาเหตุให้ทราบและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกกลับเข้าทำงานแต่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งถือเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และเป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามทุกสำนวนสละข้อต่อสู้ตามคำให้การที่ว่าโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกได้ทำลายทรัพย์สินของจำเลยและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้กลับเข้าทำงาน แล้วโจทก์และจำเลยทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดเป็นลูกจ้างมีวันเริ่มเข้าทำงานและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องแต่ละสำนวนโดยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ก่อนเลิกจ้างจำเลยเคยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดไม่ต้องมาทำงานระหว่างวันที่ 2ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2538 โดยจะจ่ายค่าจ้างให้กึ่งหนึ่งแต่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับพวกไม่พอใจและไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดกับจำเลยตกลงกันไม่ได้ ในที่สุดวันที่ 8 มีนาคม 2538 จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดโดยโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดได้รับค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันจากจำเลยครบถ้วนแล้ว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ด โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุกสำนวน จำเลยที่ 1 เคยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดไม่ต้องมาทำงานระหว่างวันที่ 2ถึง 7 มีนาคม 2538 โดยจะจ่ายค่าจ้างให้กึ่งหนึ่ง แสดงว่าระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 มีนาคม 2538 โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องมาทำงานให้แก่จำเลย การที่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดไม่พอใจที่จะได้รับค่าจ้างเพียงกึ่งหนึ่งและไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเพื่อให้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวให้แก่นายจ้างถือไม่ได้ว่าเป็นการนัดหยุดงาน และไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยทั้งสามย่อมมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ให้แก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ด หนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนี้เงินในระหว่างผิดนัดเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดร่วมกันนัดหยุดงานเกินกว่า 7 วัน และได้ร่วมกันทำลายเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตรองเท้าของจำเลยที่ 1 เสียหาย จำเลยที่ 1ได้ชี้แจงสาเหตุอุปสรรคและปัญหาให้โจทก์ทั้งหมดทราบแล้วโดยขอร้องให้โจทก์ทั้งหมดกลับเข้าทำงานเพื่อผลิตสินค้าส่งขายยังต่างประเทศ แต่โจทก์ทั้งหมดไม่ยอมเข้าทำงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1ผิดสัญญาถูกปรับเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาทและเมื่อจำเลยที่ 1ต้องหยุดการผลิต ทำให้จำเลยที่ 1 ประสบปัญหาด้านการเงินดังนั้น ในระหว่างหยุดงานจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์คนละกึ่งหนึ่งได้ และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในข้อ 2.2ว่า การที่โจทก์ทั้งหมดไม่พอใจรับค่าจ้างกึ่งหนึ่งดังกล่าวและร่วมกันหยุดงานชั่วคราวไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมโดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 การกระทำของโจทก์ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ทั้งเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสามได้สละข้อต่อสู้ในคำให้การในข้อที่ว่าโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดทำลายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1และไม่ยอมกลับเข้าทำงานตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้วทั้งจำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าจำเลยมีสิทธิจ่ายค่าจ้างให้โจทก์กึ่งหนึ่งในระหว่างหยุดงานอย่างไรจึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ข้อเท็จจริงคงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าก่อนเลิกจ้างรวมทั้งระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งหมดไม่ต้องมาทำงาน โดยจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์กึ่งหนึ่งแต่โจทก์ทั้งหมดไม่พอใจจึงไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งหมดหยุดงานไปนั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหาเป็นการนัดหยุดงานเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่ส่วนที่โจทก์ไม่พอใจที่ได้รับค่าจ้างในระหว่างหยุดงานเพียงกึ่งหนึ่งและไปร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมนั้นเป็นการใช้สิทธิของโจทก์อันมีอยู่ตามปกติ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่เป็นละทิ้งหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่มีความผิดจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ให้แก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ด ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดหรือไม่ และจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้นิยามคำว่า นายจ้าง ไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล ให้หมายถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งหมดชอบแล้ว ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือไม่ เห็นว่าโดยที่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้ชื่อว่าเป็นนายจ้างก็ตาม กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 ซึ่งบัญญัติว่า”ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้นท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน”คดีไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เลิกจ้างโจทก์โดยกระทำนอกเหนือขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดโดยไม่ระบุว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง