คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2723/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ตรวจสอบจำนวนเนื้อที่ดินและกำหนดค่าทดแทนที่ดินแล้วได้มีการนำเสนอผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเขตชลประทาน จากนั้นจึงได้เสนอเรื่องและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกรมชลประทานโจทก์เพื่อพิจารณาอนุมัติดังนั้นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างตัวแทนของโจทก์กับ พ. สามีจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ยอมผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นไปด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และมีผลผูกพันให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นแม้ต่อมาได้มีการสอบเขตที่ดินของ พ. อีกครั้งหนึ่งและเจ้าหน้าที่ของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวได้จัดแบ่งราคาที่ดินออกเป็นสองส่วน ทำให้ค่าทดแทนที่ดินที่ พ. มีสิทธิได้รับลดลง และโจทก์ได้สมัครใจจ่ายค่าทดแทนจำนวนนี้ให้ พ. ไปแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์จะมากำหนดราคาซื้อขายที่ดินขึ้นใหม่แต่ฝ่ายเดียว เป็นเหตุให้ราคาที่ดินลดต่ำลงโดยผู้ขายไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ จำเลยที่ 4 เป็นช่างรังวัดที่ดิน มีหน้าที่รังวัดแบ่งแยกที่ดินของ พ.ที่ถูกเขตชลประทานตามที่ฝ่ายพ.กับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานโจทก์นำชี้และตามแนวหลักเขตคลองชลประทานที่เจ้าหน้าที่ของกองสำรวจภูมิประเทศปักไว้ถูกต้องตามระเบียบแล้ว หาได้รังวัดไปโดยพลการตามอำเภอใจของตนไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่กำหนดค่าทดแทนที่ดิน เพราะในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินมีคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะอนุกรรมการระดับอำเภอมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว โจทก์จึงมิอาจอ้างได้ว่าพ. กับจำเลยที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการชลประทานเมื่อปี 2526 โจทก์ได้รับงบประมาณซื้อที่ดินจากราษฎรเพื่อขุดคลองชนประทาน ในการดำเนินการดังกล่าวมีที่ดินโฉนดเลขที่ 1296 ของนายไพศาล เทพวีระ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ถูกแนวเขตชลประทานผ่านเมื่อนายไพศาลยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน จำเลยที่ 4เป็นผู้มีหน้าที่ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน แต่จำเลยที่ 4 ได้รังวัดแบ่งแยกและคำนวณเนื้อที่ที่ดินผิดพลาดบกพร่องและไม่ตรงต่อความเป็นจริงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายเงินเงินค่าทดแทนให้นายไพศาลเกินกว่าที่จะต้องจ่ายเป็นเงิน 1,044,312.50 บาท โจทก์ทราบรายงานการสอบสวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2531 จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินมีหน้าที่รังวัดที่ดินเพื่อการชลประทานและรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำขอและการนำชี้ของนายไพศาลการรังวัดที่ดินดังกล่าวกระทำโดยเจตนาไม่สุจริตของบุคคลทั้งสองด้วยการนำชี้ รังวัดและคำนวณเนื้อที่ดินไม่ตรงความจริง การกระทำของบุคคลทั้งสองดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เนื่องจากนายไพศาล ถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกของนายไพศาล จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ในฐานะผู้รับมรดกของนายไพศาลร่วมกับจำเลยที่ 4 คืนเงินจำนวน 1,044,312.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2526 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า นายไพศาลไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 กระทำละเมิดตามฟ้อง นายไพศาลมีหน้าที่ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินและนำชี้แนวเขตที่ดินเท่านั้นส่วนการกำหนดค่าทดแทนที่ดินและการจัดซื้อ ตลอดจนการรังวัดแบ่งแยกที่ดินเป็นหน้าที่ของโจทก์ คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่โจทก์แต่งตั้งขึ้น นายไพศาลรับเงินค่าทดแทนไว้โดยสุจริตและการรังวัดแบ่งแยกที่ดินทำถูกต้องแล้ว นายไพศาลจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่รังวัดที่ดินเพื่อการชลประทานตามฟ้องโจทก์ แต่รังวัดให้ตามคำขอของเจ้าของที่ดินและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับกรมชลประทาน พ.ศ. 2519 โดยจำเลยที่ 4 รังวัดให้ตามที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์และเจ้าของที่ดินนำชี้ นายสมบูรณ์หรือเจ้าหน้าที่คนอื่นของโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบว่าจะต้องกันเขตที่ดินในเขตรัศมีถนน 40 เมตร และไม่เคยแจ้งราคาที่แตกต่างให้จำเลยที่ 4 ทราบ ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายไพศาล เทพวีระ ผู้ตาย ร่วมกันคืนเงินฐานลาภมิควรได้จำนวน 1,044,312.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 เมษายน2532 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในปี 2526โจทก์มีโครงการขุดคลองชลประทานตามโครงการพิษณุโลก (ฝั่งซ้าย)ในท้องที่อำเภอพรหมพิรามและอำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกจึงได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินของราษฎร โดยมีคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานเป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะอนุกรรมการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพื่อดำเนินการและประสานงานกับช่วงรังวัดของกรมที่ดินทำการรังวัดที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1296 ของนายไพศาลเทพวีระ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2กับที่ 3 อยู่ในแนวเขตคลองชลประทานรายหนึ่งด้วย จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินมีหน้าที่รังวัดแบ่งแยกที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตคลองชลประทานผ่าน ได้ทำการรังวัดที่ดินแล้วตามที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์และเจ้าของที่ดินมานำชี้ ปรากฏว่าที่ดินของนายไพศาลดังกล่าวถูกเขตชลประทานเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 33 ตารางวาคณะกรรมการดังกล่าวมีมติและโจทก์เห็นชอบได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายไพศาลเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526จ่ายค่าทดแทนที่ดินในราคาไร่ละ 400,000 บาท รวมเป็นเงิน2,033,000 บาท แต่ก่อนจ่ายค่าทดแทนให้นั้นจำเลยที่ 4 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ให้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของนายไพศาลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากจำเลยที่ 4 ได้รังวัดที่ดินรายนี้ใหม่แล้วปรากฏว่าที่ดินในเขตรัศมีถนน 40 เมตร เนื้อที่ 4 ไร่ 35 ตารางวานอกเขตรัศมีถนน 40 เมตร เนื้อที่ 3 งาน 98 ตารางวา คิดเป็นเงิน1,649,925 บาท โดยถือราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2525เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2526 จึงได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินและจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก โจทก์ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวนดังกล่าวให้นายไพศาลแล้ว ต่อมาในปี 2527มีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงาน ป.ป.ป. ว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินและประเมินราคาที่ดินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทานจากรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ป. ปรากฏว่าที่ดินของนายไพศาลที่ถูกเขตชลประทานและอยู่ในรัศมีถนน 40 เมตรเพียง 1 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา นอกนั้นอยู่นอกเขตรัศมีถนน 40 เมตรเป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกชลประทานรายนี้เพิ่มขึ้น 1,044,312.50 บาท นายไพศาลถึงแก่ความตายเมื่อปลายปี 2526 โจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2531 ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.13
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า นายไพศาลและจำเลยที่ 4ได้ร่วมกันละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยทั้งสี่จะต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในการจัดซื้อที่ดินของราษฎรที่มีแนวคลองชลประทานตัดผ่าน โจทก์นำสืบถึงวิธีการและขั้นตอนการจัดซื้อที่ดินเพื่อการชลประทานว่า เมื่อโจทก์ได้วางโครงการขุดคลองส่งน้ำชลประทาน ณ ท้องที่ใดแล้ว โจทก์จะส่งรูปแบบคลองส่งน้ำไปให้เจ้าหน้าที่โครงการ เจ้าหน้าที่โครงการจะเสนอเรื่องพร้อมรูปแบบไปยังกองสำรวจภูมิประเทศ กองสำรวจภูมิประเทศจะส่งเจ้าหน้าที่ไปปักหลักเขตแนวคลองชลประทานที่จะผ่าน ฝ่ายจัดซื้อจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่ดินว่าที่ดินที่ปักแนวเขตไว้เป็นที่ดินของราษฎรผู้ใด แล้วประกาศให้ราษฎรเจ้าของที่ดินทราบเพื่อเข้าไปสำรวจที่ดินว่าที่ดินอยู่ในแนวเขตที่ถูกปักหลักเขตหรือไม่เป็นเนื้อที่จำนวนเท่าไร โดยให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอรังวัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด แล้วแต่กรณีว่าเป็นที่ดินมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทใด หลังจากนั้นฝ่ายจัดซื้อจะรวบรวมคำขอของเจ้าของที่ดินส่งไปยังกองสำรวจภูมิประเทศอีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาถึงงบประมาณ สำหรับการรังวัดแบ่งแยกที่ดินกองสำรวจภูมิประเทศจะประสานงานกับกรมที่ดินให้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นช่างรังวัดออกไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามที่เจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมกันนำชี้เมื่อช่างรังวัดทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วจะทำแผนที่ ร.ว.43 ก. กรมที่ดินจะถ่ายพิมพ์เขียวของแผนที่ ร.ว.43 ก. ให้ 4 ชุด ฝ่ายจัดซื้อจะส่งแผนที่ ร.ว.43 ก. ให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพร้อมบัญชีกำหนดราคาที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะออกไปสำรวจที่ดินพร้อมทั้งแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบว่าเจ้าของที่ดินแต่ละรายมีที่ดินอยู่ในแนวเขตคลองชลประทานจำนวนเนื้อที่คนละเท่าไร พร้อมกับแจ้งราคาที่ดินให้ราษฎรทราบแล้วให้เจ้าของที่ดินทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์หลังจากนั้นจะส่งหนังสือจะซื้อจะขายไปยังโจทก์เพื่อตรวจสอบและอนุมัติสัญญา ในเรื่องการจัดซื้อที่ดินที่ถูกเขตชลประทานตามโครงการพิษณุโลก (ฝั่งซ้าย) โจทก์มีนายพิพัฒน์ รามณรงค์นายช่างโยธา 6 หัวหน้าโครงการ นายเชาว์ ไวยทยะพัฒน์ นายคารมย์ยอดญานะ นายละออง เหมราช และนายไพโรจน์ ณ หนองคายเจ้าหน้าที่จัดหาที่ดินเป็นพยาน โดยนายเชาว์ ซึ่งเป็นหัวหน้าร่วมปฏิบัติงานในโครงการนี้ด้วยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินของนายไพศาล ติดถนนสายพรหมพิราม – คลองมะเดื่อ และก่อนโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขาย เจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับแผนที่ ร.ว.43 ก.จากช่างรังวัดของกรมที่ดินแล้ว ส่วนนายพิพัฒน์ เบิกความยืนยันว่าคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งพยานเป็นอนุกรรมการคนหนึ่งได้ไปสำรวจที่ดินที่อยู่ในแนวเขตคลองชลประทานด้วย ย่อมจะทราบดีว่าจำเลยที่ 4 ได้รังวัดที่ดินถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะที่ดินของนายไพศาล มีเนื้อที่อยู่ในแนวเขตคลองชลประทานเพียง 5 ไร่33 ตารางวา นั้น ที่ดินอยู่ในเขตหรือนอกรัศมีถนน 40 เมตร เพียงใดแม้ว่าคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเขตชลประทานได้ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้นำราคาประเมินที่ใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2525 เป็นราคาค่าทดแทนที่ดินของโครงการพิษณุโลก (ฝั่งซ้าย) ตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.2 และตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินเอกสารหมาย จ.2.2 ที่ระบุว่าที่ดินหน่วยที่ 2 ในเขตสุขาภิบาล ที่ดินสองข้างถนนสายพรหมพิราม – คลองมะเดื่อ นอกจากหน่วยที่ 1 ฯลฯ รัศมีจากถนน40 เมตร ราคาไร่ละ 400,000 บาท และหน่วยที่ 3 ที่ดินในเขตสุขาภิบาลนอกจากหน่วยที่ 1,2 ราคาไร่ละ 15,000 บาท แต่ในการรังวัดที่ดินของนายไพศาลครั้งแรกตามแผนที่ ร.ว.43 ก. จำเลยที่ 4 ไม่ได้ระบุในแผนที่ว่ามีที่ดินอยู่ในเขตหรือนอกเขตรัศมีถนน 40 เมตร จำนวนเนื้อที่เท่าไร คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้รับแผนที่ ร.ว.43 ก.แล้วก็มิได้มีผู้ทักท้วงทั้ง ๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินของนายไพศาลอยู่ทั้งในเขตและนอกเขตรัศมีถนน 40 เมตร นายพิพัฒน์ และนายคารมย์พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 4 ว่าคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีความเห็นและลงมติว่า ที่ดินของนายไพศาลอยู่ตำบลวังฆ้อง หน่วยที่ 2 แม้ที่ดินส่วนใดอยู่นอกเขตรัศมีถนน 40 เมตร ก็ให้ถือว่าที่ดินทั้งแปลงอยู่ในเขตรัศมีถนน40 เมตร มีสิทธิได้รับค่าทดแทนทั้งแปลงในราคาไร่ละ 400,000 บาททั้งตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานเอกสารหมาย จ.2.1 ระบุให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดราคาค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเขตชลประทานไกล่เกลี่ยปรองดองกับเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดผลดีและรวดเร็วต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการ แสดงว่าแม้คณะกรรมการดังกล่าวได้ประชุมมีมติให้นำราคาประเมินที่ใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินก็ตาม แต่คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนฯก็ให้โอกาสคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนฯ ปฏิบัติในลักษณะไกล่เกลี่ยปรองดองกับเจ้าของที่ดินได้ เพราะกรณีมิใช่รัฐจ่ายค่าทดแทนที่ดินในลักษณะเวนคืนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนของเอกชน เพราะถ้าคณะกรรมการดังกล่าวกำหนดราคาที่ดินต่ำไปเจ้าของที่ดินอาจปฏิเสธไม่ยอมขายได้ ซึ่งจะทำให้โครงการสร้างคลองชลประทานต้องล่าช้าออกไป ในข้อนี้จำเลยที่ 3 เบิกความว่าก่อนนายไพศาลตกลงขายที่ดิน โจทก์จะให้ราคาที่ดินทั้งแปลงต่ำกว่าไร่ละ 400,000 บาท โดยถือเกณฑ์ราคาที่ดินนอกรัศมีถนน 40 เมตรไร่ละ 15,000 บาท และในรัศมีถนน 40 เมตร ไร่ละ 400,000 บาทแต่นายไพศาลโต้แย้งว่า เจ้าพนักงานที่ดินได้ประเมินราคาที่ดินของตนทั้งแปลงไร่ละ 400,000 บาท ดังนั้นจึงเห็นว่าเมื่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ตรวจสอบจำนวนเนื้อที่ดินและกำหนดค่าทดแทนที่ดินแล้วน่าจะได้มีการนำเสนอผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเขตชลประทานแล้วจึงได้เสนอเรื่องและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์เพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนั้น หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างตัวแทนของโจทก์กับนายไพศาลซึ่งโจทก์ยอมผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นไปด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และมีผลผูกพันให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น แม้ต่อมาได้มีการสอบเขตที่ดินของนายไพศาลอีกครั้งหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวได้จัดแบ่งราคาที่ดินออกเป็นสองส่วน ทำให้ค่าทดแทนที่ดินที่นายไพศาลมีสิทธิได้รับลดลงเหลือเพียง 1,649,925 บาท และโจทก์ได้สมัครใจจ่ายค่าทดแทนจำนวนนี้ให้นายไพศาล ไปแล้วซึ่งได้จดทะเบียนและทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างนายไพศาลกับกระทรวงการคลัง ต่อมาภายหลังโจทก์จะมาทำกำหนดราคาซื้อขายที่ดินขึ้นใหม่แต่ฝ่ายเดียวเป็นเหตุให้ราคาที่ดินลดต่ำลงโดยผู้ขายไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นช่างรังวัดที่ดินมีหน้าที่รังวัดแบ่งแยกที่ดินของนายไพศาล ที่ถูกเขตชลประทานตามที่ฝ่ายนายไพศาลกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์นำชี้และตามแนวหลักเขตคลองชลประทานที่เจ้าหน้าที่ของกองสำรวจภูมิประเทศปักไว้ถูกต้องตามระเบียบแล้ว หาได้รังวัดไปโดยพลการตามอำเภอใจของตนไม่อีกทั้งจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่กำหนดค่าทดแทนที่ดินแต่อย่างใดเพราะในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินมีคณะกรรมการระดับจังหวัดและคณะกรรมการระดับอำเภอมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้วโจทก์จึงมิอาจอ้างได้ว่านายไพศาลกับจำเลยที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ที่โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้นายไพศาลเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายไพศาล มิใช่จ่ายเพราะสำคัญผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ซึ่งเป็นทายาทของนายไพศาลรวมถึงจำเลยที่ 4 จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share