แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำว่า กุ๊ก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพ.ศ. 2525 หมายถึง พ่อครัวทำกับข้าวฝรั่ง ซึ่งเป็นคำสามัญที่มีคำแปล ไม่ก่อให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้คำว่า กุ๊กแต่เพียงผู้เดียว จำเลยจึงนำไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊กและ COOK และเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยรูปพ่อครัวประดิษฐ์กับคำว่า กุ๊ก และ/หรือ COOK ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวกเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2532 จำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊ก พีอาร์ กับรูปพ่อครัว สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวก ตามคำขอเลขที่ 187941โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 187941 ต่อไปแต่ให้รอไว้ 90 วัน นับแต่วันที่คู่กรณีได้รับสำเนาคำวินิจฉัยนี้ตามมาตรา 22 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2534 แต่โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงนำคดีนี้มาสู่ศาล เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชน เพราะสาระสำคัญในการสังเกตจดจำและเรียกขานอยู่ที่คำว่า กุ๊ก หรือ COOK ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าและเป็นคำที่ใช้เป็นสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ส่วนคำและรูปอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเพียงส่วนประกอบหรือรายละเอียดที่ไม่มีน้ำหนักต่อการสังเกต จดจำและเรียกขาน โจทก์เป็นเจ้าของและได้โฆษณาเครื่องหมายการค้าขอโจทก์กับสินค้าน้ำมันพืชในประเทศไทยมาเป็นเวลานานจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนิยมแพร่หลาย จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า กุ๊ก และ/หรือ COOK ดีกว่าจำเลย การจำเลยนำเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊ก ไปจดทะเบียนเป็นการกระทำโดยมีเจตนาแอบอิงแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณและความแพร่หลายในเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือลวงขายสินค้าของตนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขอให้บังคับจำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 187941หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับห้ามจำเลยยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆกับเครื่องหมายการค้านั้นตลอดจนเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า กุ๊ก หรือ COOK ตามทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.25 จ.62 จ.63และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปพ่อครัวประดิษฐ์ประกอบคำว่ากุ๊ก หรือ COOK รวม 2 ภาพ ตามทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.26 และ จ.27 เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 42 รายการสินค้าทั้งจำพวก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม2532 จำเลยได้นำเครื่องหมายการค้ารูปพ่อครัวประดิษฐ์ คำว่าPR และคำว่า กุ๊กพีอาร์ ไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.4 เพื่อใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกับของโจทก์ทั้งจำพวก ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า กุ๊ก และ COOK ประกอบด้วยรูปการ์ตูนเต็มทั้งตัว แต่ตัวเป็นพ่อครัว ลำตัวคล้ายขวดมีมือสองข้างและเท้าสองข้าง คำว่า กุ๊ก และ COOK อยู่กลางลำตัวส่วนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเป็นรูปคนอยู่ภายในวงกลมค่อนซีกแม้จะแต่งตัวเป็นพ่อครัว แต่ก็มีเพียงครึ่งตัวท่อนบน มีมือสองข้างแต่ไม่มีเท้า มีอักษรประดิษฐ์คำว่าPR อยู่ที่หน้าอกของพ่อครัว ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยอยู่ที่รูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวซึ่งมีขนาดใหญ่ มิได้อยู่ที่คำว่า กุ๊กพีอาร์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า รูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวในเครื่องหมายการค้าของจำเลยแตกต่างจากรูปการ์ตูนลักษณะเป็นขวดตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างชัดเจนประกอบกับฉลากปิดสินค้าซอสปรุงรสตราพีอาร์ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ล.3ก็ไม่มีคำว่า กุ๊ก ปรากฏอยู่ แต่มีรูปคนแต่งตัวเป็นพ่อครัวระบุชื่อบริษัทจำเลยเป็นผู้ผลิตพร้อมที่อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ใต้รูปคนดังกล่าวเห็นได้อย่างเด่นชัด ทั้งสินค้าที่โจทก์ผลิตออกจำหน่ายในท้องตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็มีเพียงชนิดเดียวคือ น้ำมันพืชเท่านั้น ส่วนสินค้าของจำเลยเป็นซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว และน้ำปลา ไม่มีน้ำมันพืช ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้สาธารณชนหลงผิด ดังนี้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าคำว่า กุ๊ก เป็นคำที่โจทก์จดทะเบียนไว้ การที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้คำว่า กุ๊กพีอาร์ มีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่ากุ๊ก เป็นคำที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้นั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 คำว่า กุ๊กหมายถึง พ่อครัวทำกับข้าวฝรั่ง ฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำสามัญที่มีคำแปลไม่ก่อให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้คำว่า กุ๊ก แต่เพียงผู้เดียวบุคคลทั่วไปต่างใช้คำว่า กุ๊ก ได้จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน