แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในหนังสือสัญญาจะซื้อขายกำหนดว่าโจทก์วางมัดจำไว้เป็นเงิน 500,000 บาท แต่ในวันทำสัญญานั้นมีการวางมัดจำเพียง 150,000 บาท แต่ในวันทำสัญญานั้นมีการวางมัดจำเพียง 150,000 บาท ไม่ครบตามสัญญาเนื่องจากเช็คที่โจทก์เป็นค่ามัดจำอีก 350,000 บาท ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแม้การวางมัดจำแต่เพียงอย่างเดียวจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้แล้วก็ตาม แต่เมื่อคู่สัญญามีเอกสารที่เป็นหนังสือจึงต้องผูกพันกันตามข้อความที่ทำเป็นหนังสือนั้น เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันว่าต้องวางมัดจำเป็นเงิน 500,000 บาทก็จะต้องผูกพันกันตามนั้น เมื่อโจทก์วางมัดจำเพียง150,000 บาท ไม่ครบตามสัญญาจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ก่อนที่โจทก์และฝ่ายจำเลยจะทำสัญญาจะซื้อขายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้เคยทำสัญญาซื้อขายกันมา 2 ฉบับแล้วการที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินแปลงเดียวกันเป็นฉบับใหม่ขึ้นอีกก็สืบเนื่องมาจากโจทก์ผู้จะซื้อไม่ชำระเงินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับก่อน ฉะนั้นการทำสัญญาจะซื้อขายโดยฝ่ายโจทก์สั่งจ่ายเช็คเป็นการชำระเงินมัดจำตามสัญญาส่วนหนึ่งนั้นย่อมเห็นได้ในเบื้องต้นแล้วว่าคู่สัญญามีเจตนาจะให้การชำระเงินมัดจำตามจำนวนเงินและตามวันที่ลงในเช็คเป็นสาระสำคัญของสัญญา ฉบับใหม่นั้น ทั้งยังมีบันทึกไว้ที่ด้านบนด้วยข้อความว่า ต่อเนื่องจากสัญญาจะซื้อขายฉบับเดิมแสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาว่าเจตนาจะให้ถือเอาเรื่องการใช้เงินมัดจำตามเช็คดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของสัญญา และแม้ว่าสัญญาจะซื้อขายฉบับเดิมจะไม่ปรากฎข้อความว่าให้ผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่โดย สภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ดังกล่าวย่อมเห็นถึงวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาว่าหากโจทก์ผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ชำระเงินมัดจำหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ฝ่ายจำเลยผู้จะขายย่อมมีสิทธิบอกเลิกและริบมัดจำได้ทันที เมื่อปรากฎว่าเช็คซึ่งโจทก์สั่งจ่ายชำระเงินมัดจำส่วนหนึ่งใช้เงินไม่ได้ ซึ่งถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ฝ่ายจำเลยย่อมบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำเสียได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โดยจำเลยไม่ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 387 แต่อย่างใด และเมื่อการเลิกสัญญาเป็นเพราะความผิดของฝ่ายโจทก์เอง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 417 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน88 ตารางวา ราคาตารางวาละ 1,500 บาท รวมราคา2,232,000 บาท ให้แก่โจทก์ กำหนดชำระเงินรวม 3 งาน จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ที่ดินที่ตกลงจะขายให้โจทก์นี้เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิรับมรดกร่วมกับจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ซึ่งตกลงขายที่ดินในส่วนของตนด้วยและจะมาลงลายมือชื่อในสัญญาให้โจทก์ในภายหลัง โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำ 50,000 บาทให้จำเลยที่ 1 แล้ว การชำระเงินตามสัญญาจะซื้อขายโจทก์ชำระล่าช้า เพราะจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 โต้เถียงกันในเรื่องผู้รับชำระเงิน ในที่สุดฝ่ายจำเลยได้ตกลงกันให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับเงิน โจทก์จึงได้ชำระเงินให้จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 100,000 บาทรวมชำระจนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2532 เป็นเงิน 150,000 บาทต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2532 จำเลยทั้งหมดได้ทำสัญญากับโจทก์ใหม่ โดยตกลงนำเงินที่ได้รับชำระแล้ว 150,000 บาท กับเงินที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มเติมอีก 350,000 บาท รวม 500,000 บาท เป็นเงินมัดจำในสัญญาจะซื้อขายที่ทำขึ้นใหม่โดยฝ่ายจำเลยให้จำเลยที่ 3 ลงชื่อในสัญญาที่ทำขึ้นใหม่นี้ ฝ่ายจำเลยตกลงว่าจะโอนที่ดินให้โจทก์เมื่อฝ่ายจำเลยได้ดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินเรียบร้อยแล้วเงินค่าที่ดินที่เหลือโจทก์จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์ชำระเงินมัดจำที่ขาดอีก 350,000 บาท โดยจ่ายเป็นเช็ค ต่อมาโจทก์ชำระเงินสดให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 แทน และจำเลยที่ 1 ที่ 3คืนเช็คให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการรับโอนมรดกและโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยไม่ไปรับโอนมรดกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะโจทก์ตกลงจะขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่บุคคลอื่น ทำให้โจทก์ขาดกำไรไป 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 417 ให้แก่โจทก์ ถ้าไม่ไปโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เงินเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ตามฟ้อง โดยโจทก์วางมัดจำไว้ 50,000 บาท แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าที่ดินให้ตามกำหนด ต่อมาเมื่อจำเลยทวงถามโจทก์ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้ 100,000 บาท แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2532 ได้ทำสัญญากันใหม่ตกลงให้โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 500,000 บาท โดยจ่ายเงินสดให้จำเลย100,000 บาท เป็นการแลกเปลี่ยนเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเมื่อรวมเงินที่วางมัดจำไว้เดิม 50,000 บาท จึงเป็นเงินมัดจำที่ชำระแล้ว 150,000 บาท เงินมัดจำที่ค้างอีก 350,000 บาท โจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้โดยลงวันที่สั่งจ่าย 13 มิถุนายน 2532นอกจากนี้โจทก์ได้ออกเช็คลงวันที่ 26 มิถุนายน 2532 สั่งจ่ายเงินค่าที่ดินล่วงหน้าให้จำเลยอีก 200,000 บาท แต่ปรากฎว่าเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์และริบมัดจำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 417 ให้โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่ยังค้างชำระจำนวน 2,082,000 บาท ให้จำเลยทั้งห้าในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็ให้จำเลยทั้งห้าคืนเงินมัดจำ 150,000 บาท และใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 417 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา กับจำเลยที่ 1 ในราคาตารางวาละ 1,500 บาท โดยโจทก์วางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.17 ต่อมาวันที่ 9ธันวาคม 2531 โจทก์และจำเลยทั้งห้าได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวกันใหม่ในราคาเดิม โดยถือเอาเงินมัดจำที่จำเลยที่ 1รับไปแล้วเป็นเงินมัดจำตามสัญญาฉบับใหม่กำหนดชำระเงินค่าที่ดินเป็น 3 งวด งวดแรกชำระภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2531 เป็นเงิน100,000 บาท งวดที่สองชำระภายในวันที่ 12 มีนาคม 2532 เป็นเงิน100,000 บาท งวดที่สามชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดภายในวันที่ 29พฤษภาคม 2532 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โจทก์คงชำระค่าที่ดินเพียง 100,000 บาท ส่วนที่เหลือก็มิได้ชำระภายในกำหนด ในที่สุดวันที่ 9 มิถุนายน 2532 โจทก์และจำเลยทั้งห้าได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันใหม่ ในราคาเดิมระบุว่าโจทก์วางเงินมัดจำไว้ 500,000 บาท โดยถือเอาเงิน 150,000 บาท ที่โจทก์ชำระแล้วเป็นสวนหนึ่งของมัดจำ ส่วนที่เหลืออีก 350,000 บาท โจทก์ชำระเป็นเช็คตามเช็คเอกสารหมาย จ.19 กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินในนามเดิมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 แต่โจทก์ชำระมัดจำไม่ครบเพราะเช็คเอกสารหมาย จ.19ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยทั้งห้าจึงบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ ส่วนโจทก์มีหนังสือยืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน1 เดือน มิฉะนั้นโจทก์จะเสียหายขาดกำไรจากการขายให้ผู้อื่นเป็นเงิน 1,000,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การที่โจทก์วางมัดจำไม่ครบที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 ทำให้โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ในหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 กำหนดว่าโจทก์วางมัดจำไว้เป็นเงิน 500,000 บาท แต่ข้อเท็จจริงฟังแล้วว่า ในวันทำสัญญานั้นมีการวางมัดจำเพียง 150,000 บาทไม่ครบตามสัญญาเนื่องจากเช็คที่โจทก์จ่ายเป็นค่ามัดจำอีก 350,000บาท ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้การวางมัดจำแต่เพียงอย่างเดียวจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้แล้วก็ตาม แต่เมื่อคู่สัญญามีเอกสารที่เป็นหนังสือด้วย ก็จะต้องผูกพันกันตามข้อความที่ทำเป็นหนังสือนั้น เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันว่าต้องวางมัดจำเป็นเงิน 500,000 บาทก็จะต้องผูกพันกันตามนั้น เพราะมิฉะนั้นจำเลยอาจไม่ยอมทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ก็ได้เมื่อโจทก์วางมัดจำเพียง 150,000 บาทไม่ครบตามสัญญา จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหาต่อไปนี้ว่า จำเลยต้องคืนเงินมัดจำและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ว่า จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ก่อนที่โจทก์และฝ่ายจำเลยจะทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 โจทก์และฝ่ายจำเลยได้เคยทำสัญญาซื้อขายกันมา 2 ฉบับ แล้ว คือสัญญาเอกสารหมาย จ.17 และ จ.2 การที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินแปลงเดียวกันเป็นฉบับใหม่ขึ้นอีกก็สืบเนื่องมาจากโจทก์ไม่ชำระเงินตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับก่อน ฉะนั้น การทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 โดยฝ่ายโจทก์สั่งจ่ายเช็ค จ.19 เป็นการชำระเงินมัดจำตามสัญญาส่วนหนึ่งนั้น ย่อมเห็นได้ในเบื้องต้นแล้วว่า คู่สัญญามีเจตนาจะขอสัญญาฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.18 นั้น ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.18 ยังมีบันทึกไว้ที่ด้านบนด้วยว่า ต่อเนื่องจากสัญญาฉบับเดิม คือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2 สัญญาดังกล่าว ข้อ 1มีข้อตกลงเรื่องการวางมัดจำและกำหนดเวลาชำระเงินที่เหลือไว้เป็นงวด ๆ และสัญญาข้อ 4 มีข้อความว่า “ในกรณีที่ผู้จะซื้อผิดนัดผิดสัญญาประการใด ผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบเงินมัดจำในข้อ 1 ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน” จากการทำสัญญาและมีข้อบันทึกเชื่อมโยงถึงสัญญาฉบับเดิมดังกล่าว แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาว่าเจตนาจะให้ถือเอาเรื่องการใช้เงินมัดจำตามเช็คดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของสัญญา และแม้ว่าสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 จะไม่ปรากฎข้อความว่าให้ผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่โดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้ดังกล่าวย่อมเห็นถึงวัตถุประสงค์ของคู่สัญญาว่าหากโจทก์ผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ชำระเงินมัดจำ หรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ฝ่ายจำเลยผู้จะขายย่อมมีสิทธิบอกเลิกและริบมัดจำได้ทันที ดังนี้ เมื่อปรากฎว่าเช็คตามเอกสารหมาย 19 ซึ่งเป็นเช็คชำระเงินมัดจำส่วนหนึ่งใช้เงินไม่ได้ซึ่งถือว่าโจทก์ผิดสัญญาดังได้วินิจฉัยแล้วฝ่ายจำเลยย่อมบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำเสียได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โดยจำเลยไม่ต้องบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 387 แต่อย่างใดและเมื่อการเลิกสัญญาเป็นเพราะความผิดของฝ่ายโจทก์เอง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยตามฟ้อง
พิพากษายืน