แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ โดยจะได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยทั้งสามไม่สามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศได้ เพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง โดยการหลอกลวงของ จำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสามไป การบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ได้ความเพียงว่าจำเลยทั้งสามเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหลายเพื่อหวังจะได้รับเงินค่าบริการตอบแทนจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีเจตนาที่จะส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างแต่ประการใด การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ตามฟ้อง โจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนทราบข่าวจากเพื่อนคนงาน คนอื่น ๆ ว่า จำเลยที่ 1 จัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โจทก์ร่วมและผู้เสียหายจึงไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อสมัครงาน ได้พบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายว่าสามารถจัดส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสได้ โจทก์ร่วมและผู้เสียหายต่างหลงเชื่อจึงได้มอบเงินค่าทำวีซ่าและค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปต่อหน้าจำเลยที่ 3 เป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละรายเป็นรายบุคคล หาใช่เป็นการประกาศโฆษณาเชิญชวนต่อประชาชนไม่ แม้ที่หน้าสำนักงานของจำเลยที่ 1 จะมีป้ายชื่อของจำเลยที่ 1 ปิดไว้ก็ตามแต่ป้ายดังกล่าวก็เป็นเพียงป้ายชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่มีข้อความแสดงถึงการประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครงานกับจำเลยแต่อย่างใดจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2531 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่นายประสิทธิ์ มะกรูดอินทร์ นายเถลิงเกียรติ หาญตระกูลนายทวีวัฒน์ ฟุ้งทวีวงศ์ นายสุนทร นาเมืองรักษ์นายวันนา กวดนอก นายประสาน นิ้มเฮง นายปริญญา ซอเฮงนายสมาน ซอเฮง และนายชาตรี แจ่มจิต ผู้เสียหายซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยจำเลยทั้งสามเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนการจัดหางานจากคนหางานดังกล่าวเป็นเงินคนละ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาทโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลางและตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสามโดยเจตนาทุจริตได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายข้างต้นและประชาชนทั่วไป ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยทั้งสามสามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้โดยจะได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก และยังสามารถขอวีซ่าอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ด้วย ความจริงจำเลยทั้งสามไม่สามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ เพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยทั้งสามไม่สามารถขอวีซ่าอนุญาตให้คนหางานเดินทางไปทำงานในประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงหลงเชื่อเข้าสมัครงานกับจำเลยทั้งสาม แล้วจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเรียกเงินจากประชาชนผู้สมัครงานเป็นค่าตอบแทนคนละ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาท และเรียกค่าตอบแทนในการขอวีซ่าคนละประมาณ 1,000 บาท ถึง 1,500 บาทจำเลยทั้งสามได้ทรัพย์สินไปจากนายประสิทธิ์ 1,000 บาทนายเถลิงเกียรติ 1,000 บาท นายทวีวัฒน์ 1,000 บาท นายสุนทร 21,000 บาท นายวันนา 15,000 บาท นายประสาน 1,500 บาท นายปริญญา 20,000 บาท นายสมาน 20,000 บาท และนายชาตรี 20,000 บาท และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำปลอมเอกสารหนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารราชการของกระทรวงการต่างประเทศขึ้นแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด โดยจำเลยทั้งสามนำหนังสือเดินทางซึ่งกระทรวงการต่างประเทศออกให้นายประสิทธิ์ นายเถลิงเกียรติ นายทวีวัฒน์ นายสุนทรและนายประสาน มาประทับตราของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยปลอมและลงลายมือชื่อปลอมของนายปิแอร์ เปอติท์ เจ้าหน้าที่แผนกกงสุลแห่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยลงในหนังสือเดินทางทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เพื่อแสดงว่าบุคคลตามหนังสือเดินทางดังกล่าวได้รับวีซ่าอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสได้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายประสิทธิ์นายเถลิงเกียรติ นายทวีวัฒน์ นายสุนทร นายประสาน นายปิแอร์กระทรวงการต่างประเทศ ผู้อื่นหรือประชาชน และจำเลยทั้งสามได้กระทำเพื่อให้นายประสิทธิ์ นายเถลิงเกียรติ นายทวีวัฒน์นายสุนทรและนายประสานหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารวีซ่าของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่ออกให้แก่บุคคลทั้งห้าดังกล่าวที่แท้จริง เหตุตามฟ้องทั้งหมดเกิดที่แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 341, 343, 91, 83พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 คืนของกลางให้เจ้าของและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินให้ผู้เสียหายแต่ละคนตามจำนวนที่ฉ้อโกงไปรวม 100,500 บาท
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายสุนทร นาเมืองรักษ์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 82 ให้เรียงกระทงลงโทษฐานฉ้อโกงให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ฐานจัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน63,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี ถ้าจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงไปแก่นายสุนทร นาเมืองรักษ์ โจทก์ร่วม 21,000 บาท นายทวีวัฒน์ฟุ้งทวีวงศ์ 21,000 บาท นายเถลิงเกียรติ หาญตระกูล1,000 บาท นายประสิทธิ์ มะกรูดอินทร์ 1,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 3 พร้อมทั้งข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 3,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นหญิงไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยที่ 3ก็ไม่ใช่ตัวการสำคัญในการกระทำความผิดจึงมีเหตุอันควรปรานีให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้มีกำหนด 2 ปี ถ้าจำเลยที่ 3ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายและให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานหรือไม่เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยสามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้โดยจะได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก และยังสามารถขอวีซ่าอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ด้วยซึ่งเป็นความเท็จความจริงจำเลยทั้งสามไม่สามารถจัดหางานและส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยทั้งสามไม่มีความสามารถในการขอวีซ่าอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปในประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสามไป การบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้ได้ความชัดแจ้งเพียงว่า จำเลยทั้งสามเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหลายเพื่อหวังจะได้รับเงินค่าบริการตอบแทนจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเท่านั้น จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีเจตนาที่จะส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างแต่ประการใดการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วม นายประสิทธิ์ นายเถลิงเกียรตินายทวีวัฒน์ และนายวันนาผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนทราบข่าวจากเพื่อนคนงานคนอื่น ๆ ว่า จำเลยที่ 1 จัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศโจทก์ร่วมและผู้เสียหายจึงไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1เพื่อสมัครงาน ได้พบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายว่าสามารถจัดส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสได้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายต่างหลงเชื่อจึงได้มอบเงินค่าทำวีซ่าและค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปต่อหน้าจำเลยที่ 3 เห็นว่า การหลอกลวงตามที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเบิกความเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละรายเป็นรายบุคคล หาใช่เป็นการประกาศโฆษณาเชิญชวนต่อประชาชนดังที่โจทก์ฟ้องไม่ แม้ที่หน้าสำนักงานของจำเลยที่ 1 จะมีป้ายชื่อของจำเลยที่ 1 ปิดไว้ดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม ป้ายดังกล่าวก็เป็นเพียงป้ายชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีข้อความแสดงถึงการประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครงานกับจำเลยแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือไม่
พิพากษายืน