คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 775/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) กระทงหนึ่ง และมาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364 อีกกระทงหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 โดยมีเจตนาอันเดียวคือ มุ่งหมายที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 การที่ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอยู่คนละบ้านกับผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินเสียงผู้เสียหายที่ 2 บุตรผู้เสียหายที่ 1 ร้องไห้ ผู้เสียหายที่ 3 จะเข้ามาอุ้มผู้เสียหายที่ 2 จำเลยจึงใช้ไม้รวกตีผู้เสียหายที่ 3 จนแขนหัก เจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง แยกออกจากเจตนาบุกรุกได้ จึงเป็นการกระทำสองกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 หาใช่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 , 295 , 297 (8) , 364 , 365 , 371 , 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) , 365 (3) ประกอบมาตรา 264 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี ฐานบุกรุก จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์และของจำเลยในข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็น 2 กรรมนั้น เมื่อคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงและที่คู่ความโต้แย้งกันว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 แล้ววิ่งไล่ผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาสามีผู้เสียหายที่ 1 และมีบ้านอยู่ติดบ้านผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินเสียงผู้เสียหายที่ 2 บุตรผู้เสียหายที่ 1 ร้องไห้อยู่ที่พื้นดิน จะเข้าไปอุ้มผู้เสียหายที่ 2 จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส เห็นว่า การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 1 ก็โดยมีเจตนาอันเดียวคือ มุ่งหมายที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น แต่การที่ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอยู่คนละบ้านกับผู้เสียหายที่ 1 จะเข้ามาอุ้มผู้เสียหายที่ 2 จำเลยจึงใช้ไม้รวกตีผู้เสียหายที่ 3 จนแขนหัก เจตนาที่จะทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงแยกออกจากกันได้จากเจตนาบุกรุก หาใช่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวคือเพื่อทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไม่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่กรรมเดียว แต่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) , 365 (3) ประกอบด้วยมาตรา 364 ข้อหาทำร้ายร่างกาย จำคุก 2 ปี ข้อหาบุกรุก จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้ข้อหาละหนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว ข้อหาทำร้ายร่างกายคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาบุกรุกคงจำคุก 4 เดือน 15 วัน รวมจำคุก 1 ปี 10 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.

Share