คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3890/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามความหมายของคำว่า “อุตสาหกรรม” ไว้ว่า การทำสิ่งของเพื่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นกำไร ดังนี้ เมื่อกล่องกระดาษที่โจทก์ทำขึ้นนั้น จำเลยนำมาใช้สำหรับบรรจุเครื่องไฟฟ้าที่ผลิตสำเร็จแล้ว กล่องกระดาษเช่นว่านี้โดยลำพังคงเป็นเพียงอุปกรณ์ใช้ประจำอยู่กับสินค้าที่ผลิตเท่านั้นหาได้เป็นสินค้าที่จำเลยจำหน่ายได้ผลประโยชน์เป็นกำไรไม่เท่ากับการประดิษฐ์กล่องกระดาษนั้นมิได้อยู่ในความหมายที่ว่า เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคท้ายสิทธิเรียกร้องหนี้สินรายนี้ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปีโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับทำกล่องกระดาษตามสั่งจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นนักอุตสาหกรรมประกอบอุตสาหกรรมและทำธุรกิจประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์จัดทำกล่องกระดาษขนาดต่าง ๆ เพื่อบรรจุสินค้าเครื่องไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองผลิตขึ้น ต่อมาจำเลยทั้งสองค้างชำระค่ากล่องกระดาษ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน352,536.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่เดือนมิถุนายน 2529 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 2 ปีเป็นเงิน 52,880 บาทรวมเป็นเงิน 406,565.80 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันจากจำนวนเงิน 352,536.80 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเกิดจากสัญญาจ้างทำของ ซึ่งมีอายุความ2 ปี ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะโจทก์อ้างสำเนาเช็คสำเนาใบวางบิล และใบส่งของชั่วคราวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องจึงเป็นการไม่แน่นอนว่าฟ้องของโจทก์เกิดจากมูลหนี้ส่วนใดกันแน่ ทำให้จำเลยทั้งสองหลงข้อต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน406,565.80 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากจำนวนเงิน 352,536.80 บาท นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2531 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ขณะโจทก์กับจำเลยทั้งสองพิพาทกันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องของบุคคลผู้เป็นพ่อค้า ผู้ประกอบหัตถกรรมผู้เป็นช่างฝีมือ เรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของทำของมีกำหนดอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองจึงจะมีอายุความ 5 ปี ตามวรรคท้าย แต่คำว่า”อุตสาหกรรม” ตามบทบัญญัติดังกล่าวตอนท้ายนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามไว้ว่า การทำสิ่งของเพื่อให้เกิดผลประโยชน์เป็นกำไร เมื่อกล่องกระดาษที่โจทก์ทำขึ้นนั้นจำเลยทั้งสองนำมาใช้สำหรับบรรจุเครื่องไฟฟ้าที่ผลิตสำเร็จแล้ว กล่องกระดาษโดยลำพังคงเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ประจำอยู่กับสินค้าที่ผลิตเท่านั้น หาได้เป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายได้ผลประโยชน์เป็นกำไรไม่เท่ากับการประดิษฐ์กล่องกระดาษนั้นมิได้อยู่ในความหมายที่ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรมของฝ่ายลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคท้ายสิทธิเรียกร้องหนี้สินรายนี้ของโจทก์คงมีอายุความ 2 ปี เท่านั้นโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share