แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญานายหน้ามีข้อความว่า “จึงมอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนด7 วัน นับแต่วันทำสัญญานี้ ” ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วสัญญานายหน้านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลง” มีความหมายว่าเมื่อโจทก์ติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว โจทก์ต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาด้วย กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้าไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ผ่อนเวลาออกไปอีกแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันทำสัญญา ถือว่าสัญญาสิ้นสุดไม่มีผลผูกพันคู่กรณี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ขายได้ โจทก์ได้ทำหน้าที่นายหน้าติดต่อจนจำเลยสามารถขายที่ดินได้ในราคา 10,800,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์ทวงถามจำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญามีข้อกำหนดว่าโจทก์จะต้องจัดการโอนขายที่ดินให้ได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญา มิฉะนั้นสัญญานายหน้าเป็นอันระงับ ปรากฎว่าโจทก์ไม่สามารถติดต่อจัดการจดทะเบียนโอนขายที่ดินได้ภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระค่านายหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า หนังสือสัญญานายหน้ามีข้อความระบุว่า “จึงมอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันทำสัญญานี้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว สัญญานายหน้านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลง” มีความหมายว่า เมื่อโจทก์ติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว โจทก์ต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาด้วย กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้า ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ผ่อนเวลาออกไปอีกแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ภายในกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันทำสัญญา ถือว่าสัญญาสิ้นสุดไม่มีผลผูกพันคู่กรณี
พิพากษายืน