คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐาน ยักยอกและมีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยคืนหรือใช้ เงินแก่ผู้เสียหาย และโจทก์ซึ่ง เป็นผู้เสียหายในคดีนั้นได้ เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการด้วย จึงมีความหมายโดย นิตินัยว่าโจทก์ได้ ฟ้องจำเลยในคดีอาญาและมีคำขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้ เงินที่ยักยอกด้วย แล้ว ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีดังกล่าวและคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเพื่อเรียกเงินจำนวนเดียว กันนี้คืนจากจำเลยอีก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง(1) ประกอบด้วยพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ครั้งสุดท้ายโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินที่ลูกค้าของโจทก์นำมาชำระค่าสินค้ารถยนต์ ควบคุมดูแลเก็บรักษาเงินของสำนักงานสาขาประจวบคีรีขันธ์ และจัดส่งเงินเข้าสำนักงานใหญ่ของโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 31พฤษภาคม 2530 ซึ่งจำเลยได้ทุจริตยักยอกนำเงินของโจทก์ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว อันประกอบด้วยเงินค่างวดรถยนต์ที่รับชำระจากลูกค้า 163,182 บาท เงินสดหมุนเวียนของสาขา 35,808 บาทเงินค่าเปอร์เซ็นต์เก็บเงินของพนักงานเดือนพฤษภาคม 2530 ซึ่งยังไม่ได้จัดแบ่ง 10,370 บาท การที่จำเลยกระทำละเมิดดังกล่าวโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่31 พฤษภาคม 2530 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 37,946.50 บาทรวมเป็นเงิน 247,306.50 บาท โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2530 แล้ว ขอให้จำเลยชำระเงิน 247,306.50บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน209,360 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงิน 209,360 บาทของโจทก์เงินในเซฟที่หายไปจะมีจำนวนตามฟ้องหรือไม่จำเลยไม่ทราบ โจทก์ไม่อาจแยกได้ว่าจำนวนใดเป็นเงินค่างวด เงินได้หมุนเวียนหรือเงินค่าเปอร์เซ็นต์พนักงานไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด และเงินค่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงานโจทก์ทุกคนในสาขาประจวบคีรีขันธ์แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินในส่วนนี้ส่วนเงินค่างวดรถยนต์ที่รับชำระจากลูกค้านั้นไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นเงินของบริษัทสยามกลการ จำกัด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดทั้งมูลละเมิดและยักยอกทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีอาญากับจำเลยในข้อหายักยอกที่ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิพากษายกฟ้องไปแล้ว จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดสืบพยานโจทก์คู่ความแถลงร่วมกัน ขออ้างส่งสำเนาคำฟ้องคำให้การคำเบิกความของพยานโจทก์จำเลย และสำเนาคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1381/2531 ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1313/2532 ของศาลแพ่งเป็นพยานร่วมกันจากพยานในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว คู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินประจำสำนักงานสาขาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นผู้เก็บรักษากุญแจตู้เซฟ และทราบรหัสการปิดเปิดตู้เซฟดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2530 เวลา 17.30 นาฬิกานายวิโรจน์ รัตนสุวรรณ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าตู้เซฟดังกล่าวมีรอยถูกงัด เจ้าหน้าที่ของโจทก์ให้จำเลยเปิดตู้เซฟเพื่อจะตรวจดูว่าเงินที่เก็บไว้ในตู้ยังมีอยู่ครบหรือไม่ แต่วันนั้นจำเลยไขกุญแจหมุนรหัสไม่ได้ เปิดตู้ไม่ออก วันรุ่งขึ้นโจทก์ได้ให้นายชัยณรงค์ ปานกตัญญู ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเปิดตู้เซฟตรวจดู นายชัยณรงค์ตรวจดูแล้วให้ความเห็นว่าจากร่องรอยที่ถูกงัดยังไม่สามารถทำให้ตู้เซฟเปิดได้ ต่อจากนั้นโจทก์ได้ให้นายเจริญศักดิ์ ลาภศิริ ทดลองจับมือถือที่ฝาตู้เซฟดึงโดยใช้เท้ายันที่ตัวตู้ ปรากฏว่าเปิดออกได้ ตรวจภายในตู้เซฟพบว่า เงินสดขาดหายไปจำนวน 209,360 บาท คงเหลืออยู่ 170,000 บาทเศษจากพฤติการณ์ดังกล่าว โจทก์เชื่อว่าคนร้ายไม่สามารถงัดตู้เซฟให้เปิดได้นอกจากใช้กุญแจไข โจทก์จึงสงสัยว่าจำเลยได้ยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต แล้วแกล้งสร้างหลักฐานขึ้นมาอำพราง เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่าตู้เซฟถูกคนร้ายงัด โจทก์จึงได้ร้องทุกข์มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย และต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 209,360 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาตศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์เท่าที่นำสืบมา ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้องตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1381/2531โจทก์อุทธรณ์ คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมได้กลับมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางอีกเพื่อให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 209,360 บาท คือเงินจำนวนเดียวกันกับเงินที่กล่าวหาในคดีอาญาว่าจำเลยยักยอกไป
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1381/2531ของศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในความผิดฐานยักยอกนั้น มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน209,360 บาทแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นคำขอในส่วนแพ่งด้วย และต่อมาผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการโดยถือเอาฟ้องของพนักงานอัยการเป็นฟ้องของโจทก์ร่วม จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่า โจทก์ร่วมได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว และมีคำขอให้บังคับจำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 209,360 บาทที่จำเลยได้ยักยอกเอาไปแก่โจทก์ร่วมด้วยแล้ว เมื่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พิพากษายกฟ้อง และคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เพื่อเรียกเงินจำนวนเดียวกันคืนจากจำเลยอีก จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share