คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีอายุ 50 ปี ยื่นหนังสือลาออกจากงานต่อจำเลยมีข้อความว่า “ข้าพเจ้า (โจทก์) มีความประสงค์ขอลาออกจากงานเพื่อขอรับเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ข้าพเจ้า เต็มตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานธนาคารมาด้วยดีจนอายุครบ 55 ปี” คำว่า “สิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาจนอายุครบ 55 ปี” นั้น เมื่อตามคำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 เรื่อง กำหนดระยะเวลาจ้าง ตลอดจนกำหนดการจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทน ข้อ 9 มีข้อความว่า พนักงานชายอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และพนักงานหญิงอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้น ไปหากกรรมการผู้จัดการใหญ่พิจารณาเห็นว่าสมควรอนุมัติ ให้ในกรณีพิเศษให้ลาออกเพื่อรับค่าชดเชยก็อาจทำได้ แต่ทั้งนี้ให้คำนวณค่าชดเชยตามข้อ 13.2 และตามข้อ 13.2การจ่ายค่าชดเชย ให้คำนวณจ่ายให้เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน ดังนั้น พนักงานที่อายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไปเท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษได้รับค่าชดเชยตามข้อ 9 นี้ ส่วน ส่วนพนักงานชายที่มีอายุยังไม่ครบ 55 ปี แต่ปฏิบัติงานมานานเช่นโจทก์ในคดีนี้เมื่อลาออกจากงานจะได้รับค่าชดเชยตาม ข้อ 10 คือเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน หารด้วยสอง ทำให้ค่าชดเชยลดลงกึ่งหนึ่งการที่โจทก์ระบุข้อความไว้ในหนังสือลาออกทำนองว่า ขอให้โจทก์ได้รับสิทธิ เท่าเทียมกับพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาจนมีอายุ 55 ปีดังกล่าว ก็เพื่อหวังให้ตนได้รับประโยชน์จากการคำนวณค่าชดเชย อันเป็นการอิงสิทธิของพนักงานที่มีคุณสมบัติตามข้อ 9เท่านั้น หามีความหมายนอกเหนือไปจากนี้ไม่ ที่จำเลยอนุมัติ ให้โจทก์ลาออกจากงานโดยยินยอมตามเงื่อนไขในหนังสือลาออกของโจทก์ จึงเป็นคุณแก่โจทก์เท่าที่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะเอื้อ ให้ เมื่อข้อความในหนังสือลาออกของโจทก์มีความชัดเจนในตัวและ มีความหมายเป็นนัยเดียวไม่อาจแปลความเกินเลยไปถึงว่า จำเลยยังมีหน้าที่ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ โจทก์เรียกร้องข้างต้นโดยคำนวณจนถึงโจทก์มีอายุครบ 55 ปี ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องนอกเหนือจากข้อความที่ระบุไว้ใน หนังสือลาออกอีก ดังนั้น ที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อ 9 จึงเป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ ระดับผู้บริหารสังกัดฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ ได้รับเงินเดือน เดือนละ32,500 บาท ค่าครองชีพและเงินประจำตำแหน่งอีกเดือนละ 17,000 บาทรวมทั้งสิ้นเดือนละ 49,500 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถึงอายุ50 ปี มีอายุการทำงาน 27 ปี ด้วยเหตุที่โจทก์ถูกบีบคั้นทางด้านการงาน ครั้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์จึงยื่นหนังสือขอลาออกจากงานเพื่อขอรับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานกับจำเลยมาด้วยดีจนอายุ 55 ปี จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ตามเงื่อนไขที่โจทก์ระบุไว้ โดยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ คำนวณตามระเบียบของจำเลยข้อ 13.2 โดยคิดอายุงานตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงวันลาออก ได้ตามเงื่อนไขที่โจทก์ระบุไว้ โดยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์คำนวณตามระเบียบของจำเลย ข้อ 13.2 โดยคิดอายุงานตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงวันลาออก เป็นเวลา 27 ปี คูณด้วยเงินเดือนครั้งสุดท้ายจำนวน32,500 บาท เป็นเงิน 877,500 บาท ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เพราะตามเงื่อนไขที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือลาออกนั้น โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเต็มตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานกับจำเลยมาด้วยดีจนอายุครบ 55 ปี จำเลยต้องนับเสมือนหนึ่งว่าโจทก์มีอายุครบ 55 ปี และคิดอายุงาน 32 ปี คูณด้วยอัตราเงินเดือนคงที่32,500 บาท เป็นค่าชดเชย 1,040,000 บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 877,500 บาท ยังขาดอยู่อีก 162,500 บาท สำหรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ควรจะได้รับต่อไปในภายหน้า หากโจทก์ไม่ลาออกเสียก่อนได้แก่ เงินเดือนคิดในอัตราคงที่เดือนละ 32,500 บาทเงินค่าครองชีพและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 17,000 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 49,500 บาท คิดถึงโจทก์มีอายุ 55 ปี เป็นเวลาอีก 5 ปี เป็นเงิน 2,970,000 บาท และโจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จพิเศษอีกร้อยละห้าของเงินเดือน รวม 5 ปี เป็นเงิน97,500 บาท รวมสิทธิประโยชน์ในภายหน้าจำนวน 3,230,000 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 162,500 บาท และสิทธิประโยชน์ในภายหน้าจำนวน 3,230,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่1 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นวันโจทก์ออกจากงานเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า หนังสือลาออกจากโจทก์ระบุเหตุผลแปลได้เพียงว่า โจทก์ประสงค์ขอรับสิทธิประโยชน์ตามคำสั่งที่ 6/2525ของจำเลยข้อ 6.2 และ ข้อ 9 ทั้งที่โจทก์ ยังไม่มีสิทธิดังกล่าวเพราะอายุยังไม่ถึง 55 ปี ไม่อาจแปลเกินเลยไปว่า โจทก์ประสงค์ที่จะขอให้จำเลยบวกอายุงานของโจทก์เพิ่มเข้าไปอีก 5 ปีดังที่โจทก์อ้าง เนื้อหาสาระของหนังสือลาออกของโจทก์ต้องการผลประโยชน์เต็มตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานจนครบอายุ55 ปีเท่านั้น ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นสองเท่าของสิทธิที่โจทก์พึงได้รับตามข้อ 10 ของคำสั่งที่ 6/2525 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ พร้อมทั้งดอกเบี้ยจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2506 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ ระดับบริหาร สังกัดฝ่ายการธนาคารภายในประเทศ ครั้งสุดท้ายได้รับเงินเดือน เดือนละ32,500 บาท ค่าครองชีพและเงินประจำตำแหน่งอีกเดือนละ 17,000 บาท รวมเดือนละ 49,500 บาท เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากงานในขณะมีอายุ 50 ปี จำเลยอนุมัติตามหนังสือลาออกของโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เต็มตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานธนาคารจนอายุครบ 55 ปี ตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยมีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์แก่พนักงานที่ลาออกจากงาน คือ จ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 เรื่องกำหนดระยะเวลาจ้างตลอดจนการจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนให้แก่พนักงานตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 3 นอกจากนี้จำเลยยังจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษคิดเท่ากับอัตราร้อยละห้าของเงินเดือนของพนักงานผู้นั้น จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยคำนวณจากอายุงานเริ่มแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานจนถึงวันลาออกจากงาน เป็นเวลา 27 ปี คูณด้วยเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ 32,000 บาท เป็นเงิน 877,500 บาท และจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษแก่โจทก์อีก 69,364.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น946,864.78 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกจากงานตามเงื่อนไขในหนังสือลาออกเอกสารหมาย ล.2 มีข้อความชัดเจนว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์แก่โจทก์เสมือนโจทก์ทำงานจนอายุครบ 55 ปี จำเลยจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จพิเศษแก่โจทก์โดยคำนวณเท่าอายุงานของโจทก์ คือ 27 ปี นั้น ไม่ถูกต้องทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าชดเชยจำนวน 162,500 บาทเงินเดือน ค่าครองชีพและเงินประจำตำแหน่งจำนวน 2,970,000 บาทเงินบำเหน็จพิเศษจำนวน 97,500 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน3,392,500 บาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายสิทธิประโยชน์แก่โจทก์โดยคำนวณจนถึงโจทก์มีอายุ 55 ปีนั้น เห็นว่า โจทก์มีอายุ 50 ปี ยื่นหนังสือลาออกจากงานต่อจำเลย มีข้อความว่า”ข้าพเจ้า (โจทก์) มีความประสงค์ขอลาออกจากงานเพื่อขอรับเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ข้าพเจ้าเต็มตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานธนาคารมาด้วยดีจนอายุครบ 55 ปี”ซึ่งจำเลยโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกจากงานตามเงื่อนไขในหนังสือลาออกดังกล่าว คำว่า “สิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาจนอายุครบ 55 ปี” นั้น หากพิจารณาตามคำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 เรื่อง กำหนดระยะเวลาจ้างข้อ 9 มีข้อความว่า”พนักงานชายอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และพนักงานหญิงอายุตั้งแต่45 ปีขึ้นไป หากกรรมการผู้จัดการใหญ่พิจารณาเห็นว่า สมควรอนุมัติให้ในกรณีพิเศษให้ลาออกเพื่อรับค่าชดเชยก็อาจทำได้ แต่ทั้งนี้ให้คำนวณค่าชดเชยตามข้อ 13.2″ ซึ่งตาม ข้อ 13.2 หมายความว่าการจ่ายค่าชดเชย ให้คำนวณจ่ายให้เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน จะเห็นได้ว่า พนักงานชายที่มีอายุตั้งแต่55 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษได้รับค่าชดเชยตามข้อ 9 นี้เพราะหากพนักงานชายที่มีอายุยังไม่ครบ 55 ปี แต่ปฏิบัติงานมานานเช่นโจทก์ในคดีนี้ เมื่อลาออกจากงานจะได้รับค่าชดเชยตามข้อ 10คือเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน หารด้วยสองทำให้ค่าชดเชยลดลงกึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับข้อ 9 ด้วยเหตุดังกล่าวการที่โจทก์ระบุข้อความไว้ในหนังสือลาออกทำนองว่า ขอให้โจทก์ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาจนมีอายุ55 ปีดังกล่าว ก็เพื่อหวังผลให้ตนได้รับประโยชน์จากการคำนวณค่าชดเชย อันเป็นการอิง สิทธิของพนักงานที่มีคุณสมบัติตามข้อ 9 เท่านั้น หามีความหมายนอกเหนือไปจากนี้ได้ ที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกจากงาน โดยยินยอมตามเงื่อนไขในหนังสือลาออกของโจทก์ จึงเป็นคุณแก่โจทก์เท่าที่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะเอื้อให้ ข้อความในหนังสือลาออกของโจทก์ดังกล่าวมีความชัดเจนในตัวและมีความหมายเป็นนัยเดียวไม่อาจแปลความเกินเลยไปถึงว่าจำเลยยังมีหน้าที่ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่โจทก์เรียกร้องข้างต้นโดยคำนวณจนถึงโจทก์มีอายุครบ 55 ปี ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องนอกเหนือจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือลาออก ดังนั้นที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อ 9จึงเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share