คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3978-3979/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองมีกัญชาไว้ในความครอบครองและสูบกัญชานั้นโดยผิดกฎหมายยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้กระทำโดยจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงซึ่งจำเลยไม่จำต้องมีข้อบังคับระบุลงโทษไว้นั้นจำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรงมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การด้วยว่าเป็นกรณีไม่จำต้องมีข้อบังคับระบุลงโทษจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิด ขอให้จ่ายค่าชดเชย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรงทั้งจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือกระทำผิดอาญาดดยเจตนาแก่นายจ้าง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อที่จำเลยอุทธรณ์สรุปความว่า การที่โจทก์ทั้งสองมีกัญชาไว้ในความครอบครองและสูบกัญชานั้นเป็นความผิดทางอาญาและโจทก์ทั้งสองมีวิชาชีพเป็นช่างซ่อมรถยนต์หากสูบกัญชาก็จะทำให้การปฏิบัติงานเกิดความบกพร่องเสียหายอันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทั้งกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรง โดยจำเลยไม่จำต้องมีข้อบังคับระบุลงโทษไว้ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น กรณีจะต้องเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 47(6) ซึ่งระบุว่า “ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” กรณีของโจทก์ทั้งสองนี้ไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว ทั้งกรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้กระทำโดยจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าวข้างต้น ข้อ 47(2)ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นกรณีที่ร้ายแรงซึ่งจำเลยไม่จำต้องมีข้อบังคับระบุลงโทษไว้นั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”
พิพากษายืน.

Share