คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เมื่ออ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นผู้ไขข่าว เมื่อข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความ จำเลย การที่จำเลยฟ้องโจทก์ในข้อหาหมิ่นประมาทจึงไม่เป็นความเท็จ และแม้จำเลยจะฟ้องโจทก์หลายศาลจำเลยก็คงเข้าใจว่าตนมีสิทธิกระทำได้เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมีวางจำหน่ายทั่วประเทศ ประชาชนทั่วไปย่อมมีโอกาส อ่านและพบเห็นข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้ดังนั้น การใช้สิทธิของจำเลยที่ฟ้องโจทก์ดังกล่าวก็ไม่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อีกเช่นกัน จึงไม่เป็นละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้นำเอาข้อความที่รู้แล้วว่าเป็นเท็จยื่นฟ้องโจทก์กับพวกอีก 3 คน เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงเชียงใหม่ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นผู้ไขข่าวให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า กรมตำรวจได้มีการอนุมัติให้จับกุมจำเลย ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการ 2 สันติบาล ในข้อหาร่วมกันฆ่านางภาวิณีภรรยาของตนเองด้วยประสงค์ที่จะเอาทรัพย์มีมูลค่าประมาณ10,000,000 บาท และว่าจำเลยมีเมียน้อยและเมียเก็บหลายคนเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้นำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 3 และ 4 เมษายน 2529 ซึ่งเป็นความเท็จความจริงโจทก์ไม่เคยไขข่าวหรือให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งศาลแขวงเชียงใหม่ไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีสำหรับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยยังได้นำข้อความเดียวกันนั้นไปยื่นฟ้องโจทก์กับพวกอีก 3 คนต่อศาลจังหวัดลำพูน เป็นคดีอาญาในข้อหาเดียวกันกับที่ฟ้องที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งศาลจังหวัดลำพูนนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งสุดท้ายในวันที่ 30 ตุลาคม 2529 ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัด ฝ่ายจำเลยผู้ฟ้องไม่ไปศาล ศาลจังหวัดลำพูนจึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าจ้างทนายความไปดำเนินการต่อสู้คดีเป็นเงิน 60,000 บาท จำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 60,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยดำเนินคดีแก่โจทก์ในศาลดังกล่าวนั้น จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์เป็นผู้ไขข่าวและเป็นผู้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ตามที่หนังสือพิมพ์ได้ตีพิมพ์จริง เพราะในหนังสือพิมพ์นั้นได้ระบุด้วยว่า “ผู้เป็นแม่นางภาวิณียืนยัน” แม่ของนางภาวิณีก็คือโจทก์ในคดีนี้ ประกอบกับข้อความในหนังสือพิมพ์นั้นมีข้อความและความหมายทำนองเดียวกันกับหนังสือร้องเรียนของโจทก์ที่ร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมตำรวจด้วย จำเลยจึงเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์เป็นผู้ไขข่าวและให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อันเป็นการละเมิดทางกฎหมายต่อจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องดำเนินคดีแก่โจทก์เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยทั้งการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและต่างท้องที่ การที่จำเลยดำเนินคดีแก่โจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่เป็นละเมิด ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยฟ้องโจทก์ที่ศาลแขวงเชียงใหม่และศาลจังหวัดลำพูน ในข้อหาร่วมกับพวกหมิ่นประมาทจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2029/2529ของศาลแขวงเชียงใหม่ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1109/2529ของศาลจังหวัดลำพูน ศาลแขวงเชียงใหม่ไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ ส่วนศาลจังหวัดลำพูนยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ไม่ไปศาลตามนัดและจำเลยยังได้ฟ้องโจทก์ที่ศาลอื่นในข้อหาเดียวกันอีกรวม 14 ศาลมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้นท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 423 บัญญัติว่าผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เข้าเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ เห็นว่า การที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลเป็นการใช้สิทธิของจำเลยตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ต่อเมื่อสิทธิที่จำเลยใช้มีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์และข้อความที่ฟ้องฝ่าฝืนต่อความจริงแต่ปรากฏว่าโจทก์มีแต่นาวาเอกสันต์ ศุภศรี ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความว่า โจทก์บอกพยานว่าไม่ได้ไขข่าวหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยฟ้อง พยานโจทก์เป็นพยานบอกเล่าย่อมมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้ดังที่นำสืบ ทั้งตามคำให้การของจำเลยก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยให้การรับว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ไขข่าวหนังสือพิมพ์ดังที่โจทก์ฎีกา นอกจากนี้ ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2529 ได้ลงข่าวพาดหัวว่าจำเลยฆ่าภริยาของตนโดยมีข่าวตีพิมพ์ความตอนหนึ่งว่า สาเหตุสำคัญที่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ตำรวจเชื่อว่ามีการฆ่านางภาวิณีขึ้นแล้วเนื่องจากนางประเมียรให้การไว้แก่พนักงานสอบสวนว่าหลังจากพยายามปกปิดมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าบุตรสาวของตนจะเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ก็เห็นว่าเป็นประเด็นเดียวที่เป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้ฝ่ายคนร้ายยอมจำนนต่อหลักฐานเป็นแนวทางเข้าไปคลี่คลายปมปริศนาต่าง ๆ ที่ปิดบังเงื่อนงำกันไว้ซึ่งจำเป็นต้องยอมเปิดเผยให้ตำรวจได้ทราบคือ ระหว่างการแต่งงานของพันตำรวจโทกฤษณ์และนางภาวิณี จนมีลูกด้วยกันอายุ 4 ขวบฝ่ายชายก็มีเมียน้อย เมียเก็บหลายต่อหลายคนจนเป็นเหตุให้นางภาวิณีไปประชดชีวิตด้วยการมีชู้ เป็นเรื่องความแตกแยกอย่างรุนแรงที่สุด ที่พวกเราทั้งสองฝ่ายก็ทราบก็ดี ฝ่ายเราขอหย่าเพื่อจะไปแต่งงานใหม่ ฝ่ายเขาไม่ยอม พยายามบีบคั้นเพื่อแย่งทรัพย์ที่พวกเรามี เรื่องก็คาราคาซังกันอยู่ จนกระทั่งมีจุดที่เป็นชนวนรุนแรง เมื่อนางภาวิณีเตรียมทำพาสปอร์ตเพื่อเดินทางไปอยู่กับพี่สาวที่อเมริกา หรือจะพูดกันโดยตรงก็เพื่อหนีสามีไปให้พ้น แต่ความลับแดงขึ้นจับได้ก่อน เรื่องก็เลยต้องถึงฆ่ากัน ผู้เป็นแม่นางภาวิณียืนยันรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1109/2529ของศาลจังหวัดลำพูน เห็นว่าข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเมื่ออ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นผู้ไขข่าว และข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความจำเลย การที่จำเลยฟ้องโจทก์ในข้อหาหมิ่นประมาทดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นความเท็จและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และแม้จำเลยจะฟ้องโจทก์หลายศาล จำเลยก็คงเข้าใจว่าตนมีสิทธิกระทำได้ เพราะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมีวางจำหน่ายทั่วประเทศประชาชนทั่วไปย่อมมีโอกาสอ่านและพบเห็นข้อความในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้ ดังนั้น การใช้สิทธิของจำเลยดังกล่าวก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์อีกเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิด”
พิพากษายืน

Share