คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4788/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวในชั้นฎีกาแต่คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ โจทก์จึง ขอถอนฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสระบุรี จำนวน 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ครั้นเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระโจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสี่ฉบับ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคล ให้ลงโทษตามเช็ค 4 ฉบับ รวม 4 กระทง รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 28,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3ให้ลงโทษตามเช็คทั้ง 4 ฉบับ รวม 4 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 คนละ 1 ปี 8 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 14,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 คนละ 10 เดือน
จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์อนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ตามเช็คทั้ง 4 ฉบับ รวม 4 กระทง รวมจำคุก 10 เดือน จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์โจทก์จึงขอถอนฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2จากสารบบความ

Share