คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4576/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยและผู้ร้องก็มิได้มีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตามกฎหมายผู้ร้องคัดค้านและปฏิเสธฟ้องโจทก์เข้ามาในฐานะกรรมการผู้ไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลยซึ่งกระทำเป็นการส่วนตัวจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ คำร้องคัดค้านดังกล่าวของผู้ร้องถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2535 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงาน ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานคอมพิวเตอร์ค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท วันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ระหว่างทำงานกับจำเลย ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30พฤศจิกายน 2535 จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 4,000 บาทและจำเลยไม่คืนแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์จำนวน 17 แผ่น ให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 4,000 บาท และให้คืนแผ่นบันทึกข้อมูลจำนวน 17 แผ่น แก่โจทก์ จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาโจทก์แถลงว่า ได้รับบันทึกข้อมูลจำนวน 17 แผ่น คืนเรียบร้อยแล้วศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในเดือนพฤศจิกายน 2535 จำเลยยังไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 4,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ในวันนัดพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลคดีนี้ เพราะเดิมผู้ร้องเป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทจำเลย ต่อมานางสาวจันทรา กาญจโนภาส กับพวกได้ฉ้อฉลจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนางสาวจันทราเป็นกรรมการผู้ลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทจำเลยร่วมลงลายมือชื่อกับกรรมการอีกคนหนึ่งประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันบริษัทจำเลยได้ ผู้ร้องได้ฟ้องเพิกถอนชื่อนางสาวจันทราจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยกลับมาเป็นชื่อของผู้ร้องต่อศาลแพ่ง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องร้องคัดค้านและปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายประพฤติผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่มีสิทธิบังคับให้จ่ายค่าจ้างตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิได้มีส่วนได้เสียเป็นส่วนตัว คงเป็นเพียงผู้ถือหุ้นไม่มีเหตุที่จะร้องคัดค้าน จึงไม่รับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัย ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า เดิมผู้ร้องเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลย ต่อมาได้ถูกนางสาวจันทรา กาญจโนภาส กับพวกทำการฉ้อฉลจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลย ผู้ร้องได้ฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตามคดีหมายเลขดำที่ 26892/2535ของศาลแพ่ง คดีอยู่ระหว่างพิจารณาและโดยที่ นางสาวจันทราได้ขนย้ายเอกสารสำคัญของบริษัทจำเลยและพนักงานรวมทั้งโจทก์ออกไปจากบริษัทจำเลย ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้คดี หากศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของผู้ร้องจะปรากฏว่าผู้ร้องเป็นนายจ้างโจทก์ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 ผู้ร้องจึงร้องสอดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) นั้น เห็นว่า ผู้ร้องมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทจำเลย และผู้ร้องก็มิได้มีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตามกฎหมาย ผู้ร้องร้องคัดค้านและปฏิเสธฟ้องโจทก์เข้ามาในฐานกรรมการผู้ไม่มีอำนาจกระทำแทนบริษัท จำเลยจึงกระทำเป็นการส่วนตัว ซึ่งไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ คำร้องคัดค้านดังกล่าวของผู้ร้องถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) จึงไม่จำต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง
พิพากษายืน

Share