คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักในการสอบครั้งนี้แม้จะเป็นเพียงกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็ตาม หน้าที่ในการสอบย่อมคลุมถึงการสอบตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจนถึงการสอบเสร็จสิ้น หาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์ เท่านั้นไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำเข้าสอบซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเปิดเผยให้ บ. กับพวกรู้ก่อนเข้าสอบ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับในราชการ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการครูซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดแต่มิได้เป็นกรรมการสอบมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการครูมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1/2530 ณ สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีหน้าที่รับข้อสอบและเป็นกรรมการอำนวยการสนามสอบ จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการครู ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านหนองนกเขาจังหวัดปราจีนบุรี จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนวัดภักดีสุนทราวาส จังหวัดปราจีนบุรี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือสัมภาษณ์ครั้งที่ 1/2530 ณ สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรีจำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการครูโรงเรียนชุมชนบ้านโนนจิกจังหวัดปราจีนบุรี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นอนุกรรมการข้าราชการครูสามัญ หรือ อ.ก.ค.ประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูสังกัดสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนจำเลยที่ 5เป็นข้าราชการครูจังหวัดนครนายก จำเลยทั้งห้าจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเมื่อระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2530 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม2530 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมีหน้าที่ควบคุมดูแลกำกับและอำนวยการสอบ เป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูครั้งที่ 1/2530ณ สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรี ได้ร่วมกันเป็นตัวการและจำเลยที่ 5กับพวกได้ร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำผิดกฎหมายกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ล่วงรู้ข้อสอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไปและวิชาภาษาไทยหรือภาค ก. และวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งหรือภาค ข. ที่จะใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูครั้งที่ 1/2530ณ สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 16 เมษายน 2530 และวันที่16 พฤษภาคม 2530 ก่อนมีการสอบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนำข้อสอบภาค ก. และภาค ข. ซึ่งเป็นความลับในราชการออกเปิดเผยจำหน่ายจ่ายแจกและกระทำด้วยประการใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ให้นางบุญทิพา นุชพงษ์ กับผู้มีชื่ออีกหลายคนในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้สมัครเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูครั้งที่ 1/2530ณ สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรี ได้ล่วงรู้ความลับนั้นโดยแสวงหาประโยชน์จากนางบุญทิพา นุชพงษ์ กับผู้มีชื่ออีกหลายคนสำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ อันเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เข้าสอบแข่งขันคนอื่น ๆ และสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ และจำเลยที่ 5 กับพวกได้สนับสนุนช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในการแสวงหาประโยชน์จากนางบุญทิพา นุชพงษ์กับผู้มีชื่ออื่นอีกหลายคนในเขตจังหวัดปราจีนบุรี โดยจำเลยที่ 5กับพวกได้ร่วมกันจำหน่ายจ่ายแจกข้อสอบวิชาที่จะใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูครั้งที่ 1/2530 แก่นางบุญทิพา นุชพงษ์ กับผู้มีชื่ออีกหลายคนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157, 164 ที่แก้ไขแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 164 แต่การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 9 ปี จำเลยที่ 4 ที่ 5 มีความผิดตามมาตรา 157 ประกอบกับมาตรา 86และมีความผิดตามมาตรา 164 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ที่แก้ไขใหม่ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกคนละ 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 164 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 4 ที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 164 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษายกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยคนละไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ และจำเลยที่ 4 ที่ 5 ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้จัดให้มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูครั้งที่ 1/2530ใน 40 จังหวัดรวมทั้งจังหวัดปราจีนบุรี โดยกำหนดสอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ในวันที่ 16 เมษายน 2530สอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไป ที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.)ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2530 และสอบความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือสอบสัมภาษณ์ (ภาค ค.) ในวันที่ 17 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ที่ 5 รับราชการเป็นข้าราชการครู จำเลยที่ 2 เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านหนองนกเขา อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรีจำเลยที่ 3 เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดภักดีสุนทราวาส จำเลยที่ 2ที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือสอบสัมภาษณ์ จำเลยที่ 4 เป็นอาจารย์ระดับ 5 โรงเรียนชุมชนบ้านโนนจิก อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี จำเลยที่ 5 เป็นครูโรงเรียนชุมชนบ้านเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายกเมื่อวันที่ 11 ถึง 15 พฤษภาคม 2530 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ได้ร่วมกันนำข้อสอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไปที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง(ภาค ข.) ที่จัดทำโดยสำนักงาน ก.ค. และส่งไปให้สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรีใช้สอบในวันที่ 16 พฤษภาคม 2530 ออกขายแก่นางบุญทิพา นุชพงษ์ กับพวกผู้เข้าสอบโดยทุจริต ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นข้าราชการครูได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งหรือสอบสัมภาษณ์ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครูครั้งที่ 1/2530 ณ สนามสอบจังหวัดปราจีนบุรีตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติที่ 174/2530 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2530ย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานในการสอบครั้งนี้แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะเป็นเพียงกรรมการสัมภาษณ์ก็ตาม แต่การเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการสอบของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ย่อมคลุมถึงการสอบครั้งที่ 1/2530 ตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งจนถึงการสอบเสร็จสิ้น หาใช่เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เฉพาะในช่วงการสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 17 ตุลาคม 2530 เท่านั้นไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาทุจริตร่วมกันนำข้อสอบวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเปิดเผยให้นางบุญทิพา นุชพงษ์กับพวกรู้ก่อนเข้าสอบ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับในราชการตามฟ้องและจำเลยที่ 4 ที่ 5ซึ่งเป็นข้าราชการครูแต่มิได้เป็นกรรมการสอบมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ส่วนจำเลยที่ 5ฎีกาว่าได้ช่วยเหลือนำข้อสอบไปถ่ายเอกสารหลังจากที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำข้อสอบมาเปิดเผยซึ่งความผิดฐานเปิดเผยความลับได้สำเร็จไปแล้วนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share