คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น นิติกรรมหาได้ตกเป็นโมฆะกรรมไม่เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6488 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 1ที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หาต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 3 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้แก่ธนาคารเป็นจำนวน 200,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสาม ดังกล่าวได้กระทำในขณะที่อยู่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ในคดี ที่โจทก์ฟ้องนางสาวสมพ้อง ตันติเวสสที่ 1 เรืออากาศตรีวิศิษฐ์ ศรีแสงอ่อน ที่ 2 เป็นจำเลยในคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์และ รับเงินจำนวน 198,000 บาท ไปจากโจทก์ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 396/2524 หมายเลขแดงที่ 623/2525 ของศาลชั้นต้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หาเป็น การร่วมกันทุจริตเพื่อมิให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้อันเป็นความผิดอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ ดังนั้นนิติกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะแล้วทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายปีละ 50,000 บาท โดยขอคิดค่าเสียหายนับแต่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 623/2525 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 200,000 บาท ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าว ระหว่างจำเลยทั้งสามให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะโอนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ปีละ 50,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนแล้วตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2526 แต่มิได้ฟ้องเพิกถอนภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนางสาวสมพ้อง ตันติเวสส โดยมีโจทก์เป็นผู้เช่าทำนาอยู่ ต่อมานางสาวสมพ้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ วันที่ 8 กันยายน 2524โจทก์จึงฟ้องนางสาวสมพ้องและจำเลยที่ 1 ขอให้นางสาวสมพ้องและจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินจำนวน198,000 บาท อันเป็นเงินที่นางสาวสมพ้องขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ไปจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรสาวโดยเสน่หา วันที่ 20 เมษายน 2526โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานขอดูและถ่ายโฉนดที่ดินพิพาทศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2529ให้จำเลยที่ 1 คดีนี้โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่11 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 แล้วหรือไม่เห็นว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์2525 แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526โจทก์ยื่นคำขอดูและถ่ายโฉนดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานจึงถือได้ว่าโจทก์ทราบถึงการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2กับจำเลยที่ 3 แล้วนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2526อันเป็นเวลาที่โจทก์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน แต่โจทก์หาได้ฟ้องไม่ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความโดยนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3เป็นโมฆะ เพราะการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับโอนที่ดินพิพาทโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมได้นั้น เห็นว่า การโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 มีขึ้นก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและกรณีดังกล่าวหาได้ตกเป็นโมฆะกรรมไม่ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ก็บัญญัติเพียงว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้เท่านั้น เมื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share