คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกทรัพย์ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 131 และฐานปลอมหนังสือตามมาตรา
230.
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา 131 ฐานเดียว แต่ฟังว่าจำเลยยักยอกเงินไม่เต็มตามที่ฟ้องจึงให้คืนเท่าที่จำเลย
ยักยอก.
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คือจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยยักยอกเงินเต็มตามฟ้อง และ
ปลอมหนังสือด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยยักยอกเงินจำนวนมากกว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ จึงพิพากษา
แก้ให้ใช้จำนวนเงินมากขึ้น และแก้ว่าจำเลยผิดตามมาตรา 230 ด้วย ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยศาลอุทธรณ์ไม่รับไว้
พิจารณา เพราะถือว่ายื่นเกินกำหนด ดังนี้เป็นเรื่องที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาด้วยและศาลอุทธรณ์แก้ให้ลงโทษจำเลย
ตามอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยจึงฎีกาขึ้นมาได้ และเมื่อทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจ
ยกฟ้องเสียได้./

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๒๒, ๒๒๔,๒๒๕,๒๒๗,๒๒๙,๒๓๐,๒๓๑,๑๓๑,๓๑๔,๓๑๙,๖๓,๖๕.
จำเลยทั้ง ๒ ให้การปฎิเสธความผิด
ศาลมณฑลทหารบกที่ ๕ พิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ยักยอกทรัพย์ ๑๐๓๔
บาท ๕๕ สตางค์ ตาม ก.ม,ลักษณะอาญามาตรา ๑๓๑ ให้จำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๒ ไม่ผิดในคดีนี้คงผิดในคดีแดงที่ ๒๘/๒๔๙๔
ฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา ๓๑๔ จำคุก ๖ เดือน
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลทหารกลางเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ยืนอุทธรณ์เกินกำหนด แม้จะยื่นไม่ทันเพราะเหตุสุดวิสัย ก็จะรับอุทธรณืของจำเลยที่ ๑
ไว้พิจารณาไม่ได้.
สำหรับของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ ยักยอกเงิน ๑๔๖๔ บาท ๕๕ สตางค์มาตรา ๑๓ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และผิด
ฐานปลอมหนังสือตามมาตรา ๒๓๐ จำคุก ๕ ปี รวมเป็นโทษ ๖ ปี ๖ เดือน กับให้ใช้เงิน ๑๔๒๔ บาท ๕๕ สตางค์
จำเลยที่ ๒ ผิดตามมาตรา ๓๑๔ และ ๒๓๐ จำคุก ๕ ปี ๖ เดือน ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ไม่มั่นคงพอฟังว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำผิด ส่วนในกรณีที่จำเลยที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์เกิน
กำหนดไป ๑ วัน เพราะมีเหตุสุดวิสัยศาลทหารกลางวินิจฉัยว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาไม่ได้นั้น คดีนี้โจทก์ก็ได้อุทธรณ์
ขึ้นมาด้วย และศาลทหารกลางแก้ให้ลงโทษจำเลยตามอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยจึงฎีกาขึ้นมา เมื่อทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่า
จำเลยกระทำผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้ ฉะนั้นปัญหาที่ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ จะควรรับไว้พิจารณาได้หรือ
ไม่ จึงยังไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยที่ ๑ ไป./

Share