คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว แล้วจึงลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) เป็นจำคุกคนละตลอดชีวิตนั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นจะต้องลดโทษให้จำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงรวมโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยมิได้พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขการเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 289, 371 ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3996/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 8 ทวิ วรรคสอง), 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนลงโทษประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนกับฐานพาอาวุธปืนมาเรียงกระทงลงโทษได้ คงลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ยกคำขอให้นับโทษต่อ ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ผู้ตายขับรถยนต์กระบะโดยมีนางนงค์ลักษ์ จันทร์ไสย์ นั่งคู่มาด้านหน้าข้างซ้าย เด็กชายวรายุทธ จันทร์โสย์ นั่งตรงกลาง ส่วนนายชาญวิทย์ มูลยศ นั่งที่กระบะท้าย สำหรับนายวุฒิพงษ์ จันทร์ไสย์ ขับรถจักรยานยนต์นำหน้า ออกจากบ้านจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์ มูลยศ จะกลับบ้าน เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ มีคนร้ายสองคนขับรถจักรยานยนต์และนั่งซ้อนท้ายกันตามมาและเร่งแซงรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับขึ้นมาทางด้านขวาคนที่นั่งซ้อนท้ายใช้อาวุธปืนพกยิงผู้ตาย 2 นัด รถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับเสียหลักลงไปในสวนลำไยข้างถนนด้านขวามือ คนร้ายตามไปยิงผู้ตายซ้ำอีก 4 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วคนร้ายพากันหลบหนีไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองมาดำเนินคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืน หลังจากลดโทษแล้วให้จำคุก 8 เดือน และ 4 เดือนตามลำดับ จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในชั้นนี้คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์มีนายชาญวิทย์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานนั่งอยู่ที่กระบะท้ายรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับ เมื่อผ่านศาลาพักร้อนริมถนนด้านซ้ายมือพยานเห็นจำเลยทั้งสองกับนายสวัสดิ์ แสนสม ยืนอยู่ด้วยกันที่ศาลาดังกล่าว เมื่อรถยนต์กระบะแล่นผ่านศาลาพักร้อนไปแล้ว พยานเห็นมีรถจักรยานยนต์แล่นตามมา 1 คัน มีจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ และจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย เมื่อถึงที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์แล่นแซงขึ้นทางด้านขวาห่างจากพยานประมาณครึ่งเมตร และจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนพกยิงผู้ตาย 2 นัด รถยนต์กระบะเสียหลักลงไปในสวนลำไยทางด้านขวาเบียดรถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองล้มลง จำเลยที่ 1 ตามไปยิงผู้ตายอีก 4 นัด และจำเลยทั้งสองนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์พากันหลบหนีไปด้วยกัน พยานเห็นจำเลยทั้งสองในระหว่างที่ขับรถจักรยานยนต์ตามรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับมา โดยอาศัยแสงสว่างจากไฟกิ่งข้างถนน และที่พยานจำจำเลยทั้งสองได้ เพราะพยานเห็นจำเลยทั้งสองในงานปอยหลวงที่บ้านจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์ถึง 2 ครั้ง และก่อนเกิดเหตุ 1 วัน พยานยังเห็นจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์วนเวียนอยู่ที่หน้าบ้านผู้ตายด้วย เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุพยานปากนี้เห็นจำเลยทั้งสองมาก่อนแล้วหลายครั้ง และขณะเกิดเหตุพยานอยู่ห่างจากคนร้ายที่ยิงผู้ตายเพียงประมาณครึ่งเมตร มีแสงสว่างจากแสงไฟที่กระทบกระบะรถยนต์กระบะ ประกอบกับขณะที่จำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์ตามรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับมาในระยะห่างกันประมาณ 2 ถึง 5 เมตร ได้ผ่านไฟกิ่งข้างถนนขณะที่อยู่ในหมู่บ้านด้วย เชื่อว่ามีแสงสว่างเพียงพอที่พยานจะมองเห็นและจำจำเลยทั้งสองได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายวุฒิพงษ์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์นำหน้าและนางนงค์ลักษ์ซึ่งนั่งอยู่ในรถยนต์กระบะขณะเกิดเหตุเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองเห็นจำเลยทั้งสองกับนายสวัสดิ์ที่บ้านจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์ และเห็นจำเลยทั้งสองอยู่ที่ศาลาพักร้อนริมถนนก่อนเกิดเหตุโดยนายวุฒิพงษ์เบิกความด้วยว่า เมื่อพยานขับรถจักรยานยนต์ผ่านเลยศาลาพักร้อนมาแล้ว พยานหันกลับไปดูทางรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับ พยานเห็นมีรถจักรยานยนต์ออกมาจากศาลาพักร้อนดังกล่าวแล่นตามรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับมาด้วย และหลังเกิดเหตุขณะที่พยานขับรถจักรยานยนต์พานายอ้ายกลับมาในที่เกิดเหตุได้สวนกับรถจักรยานยนต์คนร้ายที่กำลังจะแล่นหลบหนีและเห็นหน้าคนร้ายโดยอาศัยแสงสว่างจากดวงไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของพยาน พยานจำได้ว่าคนขับรถจักรยานยนต์คือจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย แต่พยานไม่ทราบชื่อของจำเลยทั้งสอง แม้พยานปากนี้จะไม่เห็นขณะที่คนร้ายยิงผู้ตาย แต่พยานเห็นจำเลยทั้งสองขณะอยู่ในที่เกิดเหตุในช่วงระยะเวลากระชั้นชิดกับเหตุการณ์โดยมีพันตำรวจโทนิรันท์ ฉัตรยาลักษณ์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานได้ทราบจากนายวุฒิพงษ์และนายชาญวิทย์ในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุว่า พยานทั้งสองจำคนร้ายทั้งสองได้ว่าเป็นบุคคลที่พยานเห็นที่บ้านจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์และที่ศาลาพักร้อนริมถนน กับพยานทั้งสองเคยเห็นคนร้ายทั้งสองไปขับรถจักรยานยนต์วนเวียนอยู่หน้าบ้านของผู้ตาย พยานจึงให้นายวุฒิพงษ์และนายชาญวิทย์ดูสมุดภาพบุคคลผู้มีประวัติอาชญากรรมของทางราชการ บุคคลทั้งสองชี้ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้าย กับโจทก์มีจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์เป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าจำเลยทั้งสองกับนายสวัสดิ์มาที่บ้านของพยาน เห็นว่า นายวุฒิพงษ์ นายชาญวิทย์ นางนงค์ลักษ์ จ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์ และพันตำรวจโทนิรันท์ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 2 อันจะทำให้สงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะพันตำรวจโทนิรันท์เบิกความเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตน จึงเชื่อว่าเบิกความตามที่รู้เห็นจริง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน กับชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพไว้ด้วย พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกาว่า พยานโจทก์ที่เบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองกับนายสวัสดิ์ไปรับประทานอาหารในงานปอยหลวงที่บ้านจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์นั้นอาจจดจำบุคคลผิดตัวได้นั้น เห็นว่า นอกจากนางนงค์ลักษ์ นายชาญวิทย์จะเบิกความว่าพยานได้ไปบริการอาหารที่โต๊ะจำเลยทั้งสอง นายสวัสดิ์และจ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์แล้ว จ่าสิบตำรวจอนุศักดิ์ที่นั่งร่วมโต๊ะอาหารกับจำเลยทั้งสองเป็นเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ได้เบิกความยืนยันตรงกันด้วยจึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการจดจำบุคคลผิดพลาด และที่จำลยที่ 2 อ้างในฎีกาประการต่อไปว่าไม่มีแสงสว่างที่ศาลาพักร้อนริมถนนเพียงพอที่จะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนและจำบุคคลได้แม่นยำนั้น เห็นว่าขณะรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับแล่นผ่านศาลาพักร้อนมีแสงสว่างจากดวงไฟหน้ารถจักรยานยนต์ที่นายวุฒิพงษ์ขับนำหน้าเสริมด้วยแสงสว่างจากดวงไฟหน้ารถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับและดวงไฟร้านค้าฝั่งตรงข้ามประกอบกับถนนบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้งเลี้ยวอ้อมศาลาพักร้อนไปทางด้านซ้ายเชื่อว่ามีรัศมีความสว่างของดวงไฟหน้ารถจักรยานยนต์และรถยนต์กระบะส่องไปที่ศาลาพักร้อนดังกล่าว มองเห็นบุคคลในศาลาพักร้อนได้ชัด โดยเฉพาะหากเป็นบุคคลที่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนก็สามารถจดจำได้ด้วย จึงเชื่อได้ว่าพยานโจทก์ได้เห็นและจดจำบุคคลในศาลาพักร้อนดังกล่าวได้ไม่ผิดพลาด และมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า นายชาญวิทย์มองเห็นและจำคนร้ายว่าเป็นจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เห็นว่า นายชาญวิทย์เบิกความว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายแล่นตามรถยนต์กระบะที่ผู้ตายขับมาในระยะห่างกันประมาณ 2 ถึง 5 เมตร เป็นเวลานานถึงประมาณ 20 นาที เมื่อผ่านถนนช่วงที่มีไฟกิ่งก็สามารถมองเห็นและจำจำเลยทั้งสองได้แล้ว เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แซงขึ้นมาทางขวามือ พยานได้หันไปมองดู ขณะนั้นอยู่ห่างกันเพียงประมาณครึ่งเมตร ซึ่งพิจารณาประกอบกับโครงกระบะท้ายรถยนต์กระบะที่พยานนั่งอยู่ที่เป็นเพียงโครงเหล็กโปร่งมองทะลุผ่านได้โดยตลอดตามภาพถ่ายประกอบการตรวจสภาพที่เกิดเหตุแล้ว เชื่อว่านายชาญวิทย์เห็นและจำจำเลยทั้งสองได้ว่าเป็นคนร้าย สำหรับเอกสารชั้นจับกุมและสอบสวนตลอดจนการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้กระทำไปโดยไม่สมัครใจนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาหรือฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าพนักงานตำรวจผู้เกี่ยวข้องกับคดีนี้แต่อย่างใด ประกอบกับตามภาพถ่ายการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ มีประชาชนมุงดูจำนวนมาก และไม่ปรากฏว่ามีลักษณะในการข่มขู่บังคับแต่อย่างใด เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ และชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพด้วยความสมัครใจ สำหรับข้ออ้างอื่นในฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นสาระแก่การที่จะต้องวินิจฉัย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว แล้วจึงลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) เป็นจำคุกคนละตลอดชีวิต นั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะที่ถูกต้องแล้วศาลชั้นต้นจะต้องลดโทษให้จำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงก่อน แล้วจึงรวมโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยมิได้พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขการเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ก่อนรวมโทษ เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสองเป็นรายกระทงกระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) แล้ว คงให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 4 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share