คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3924/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาในหนังสืออนุญาตแล้วสิทธิการทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยของโจทก์ตามเงื่อนไขของกฎหมายย่อมสิ้นสุดไปแล้วจำเลยที่1จึงมีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ได้ทั้งกรณีมิใช่เป็นการยกสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้ระหว่างราษฎรด้วยกันแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ที่เป็นส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจึงมีผลเท่ากับโจทก์อ้างสิทธิครอบครองมาใช้ยันรัฐนั่นเองซึ่งโจทก์ไม่อาจกระทำได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ระหว่างที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองตัดถนนบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินของโจทก์ ทำให้ที่นาของโจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการทำนาปีละ 20,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อและปรับสภาพถนนให้เป็นที่นาตามเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมกระทำให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ปีละ 20,000 บาท นับแต่ปี 2533 เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์จะสามารถกลับเข้าทำนาได้
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อมีผู้บุกรุกเข้าไปทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองชี้แจงให้โจทก์ทราบแล้วโจทก์มิได้คัดค้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลก่อสร้างถนนพิพาทจึงมีอำนาจจะเพิกถอนหนังสืออนุญาต สทก.1 ของโจทก์บางส่วนได้การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายไม่เกิน 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาทและปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นที่นา ให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 10,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่ปี 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนและปรับสภาพพื้นที่แล้วเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในที่ดินพิพาทตามหนังสืออนุญาตสทก.1 เอกสารหมาย จ.1 มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม2527 ถึง 1 ตุลาคม 2532 ในปี 2533 จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนมาตรฐาน รพช. สายบ้านไทร-กิ่งอำเภอลำดวน เชื่อมระหว่างอำเภอลำดวนกับ อำเภอศีขรภูมิ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปผ่านที่ดินพิพาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รื้อและปรับสภาพถนนให้คืนสภาพเดิมหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 16 บัญญัติว่า “อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การเข้าทำประโยชน์หรืออาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติคราวละไม่น้อยกว่าห้าปีแต่ไม่เกินสามสิบปี ฯลฯ”
โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามหนังสืออนุญาต สทก.1 ตามเงื่อนไขของมาตรา 16 อันเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติว่า “ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ฯลฯ” เมื่อปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนในปี 2533 อันเป็นเวลาหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาในหนังสืออนุญาต สทก.1 ของโจทก์ สิทธิการทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนของโจทก์ตามเงื่อนไขของกฎหมายย่อมสิ้นสุดไปแล้ว ทั้งกรณีมิใช่เป็นการยกสิทธิครอบครองขึ้นต่อสู้ระหว่างราษฎรด้วยกัน แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ที่เป็นส่วนราชการและเป็นหน่วยงานของรัฐจึงมีผลเท่ากับโจทก์อ้างสิทธิครอบครองมาใช้ยันรัฐนั่นเอง ซึ่งโจทก์ไม่อาจกระทำได้ โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share