คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า บริษัทโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้วปัญหาว่า ส. ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโจทก์ร่วม ได้ร้องทุกข์ในนามส่วนตัวหรือไม่ ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างไร ดังนั้นที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ส. มอบอำนาจให้ร้องทุกข์ในนามส่วนตัวเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน และผิดจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนนั้น แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267, 352, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 90,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญา หมายเลขคดีดำที่ 772/2530 และหมายเลขแดงที่ ช.6346/2531 ของศาลอาญา
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ในระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ให้จำคุก 1 ปี โดยให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 7710/2531 และคดีหมายเลขแดงที่ ช.6346/2531ของศาลอาญา กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 90,000 บาทแก่โจทก์ร่วมด้วย ข้อหาแจ้งความเท็จ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นรับมาเพียงข้อเดียว คือข้อ 2.2(2) ที่ว่า ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายสมเจตน์มอบอำนาจให้ร้องทุกข์ในนามส่วนตัวตามเอกสารหมาย จ.9 เชื่อว่า นายสมเจตน์เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทโจทก์ร่วม และต้องเป็นผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 หุ้นย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่กรรมการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมได้เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนและผิดไปจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายตามฟ้องในคดีนี้คือบริษัทศิริวิวัฒน์ (2515) จำกัด โจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว ปัญหาว่านายสมเจตน์จะได้ร้องทุกข์ในนามส่วนตัวหรือไม่ ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างไร ดังนั้นฎีกาของจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share