แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ผลตอบแทนการลงแรงเป็นหุ้นในบริษัท 2,000 หุ้น โดยไม่ได้ออกเงิน ซึ่งถือว่าโจทก์ได้ลงเงินในบริษัท ก. ผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นหุ้นส่วนจึงโอนมาเป็นหุ้นในบริษัท ก. แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในฐานะหุ้นส่วนตามสัญญาห้างหุ้นส่วนอีกต่อไป เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์อ้างเพียงว่า สัญญาห้างหุ้นส่วนยังไม่เลิกกันโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ได้แต่ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องในฐานะหุ้นส่วนตามสัญญาห้างหุ้นส่วนเพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นหุ้นส่วนโอนมาเป็นหุ้นในบริษัท ก. อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามฟ้องแล้ว ข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวยุติไป ดังนั้นปัญหาว่าสัญญาห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วหรือไม่ แม้วินิจฉัยก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์จำเลยที่ 1 และนายชิน เพิ่มพูล ทำสัญญาร่วมหุ้นส่วนซื้อขายที่ดิน โดยนายชินนำที่ดิน 2 แปลงเนื้อที่ประมาณ 62 ไร่เศษมาร่วมลงทุนด้วยตีราคาไร่ละ 13,000 บาท ขณะเดียวกันได้ร่วมกันซื้อที่ดินจากบุคคลภายนอกซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันรวม 6 แปลงจำนวนเนื้อที่ประมาณ 81 ไร่เศษ ราคาไร่ละ 7,000 บาท รวมเป็นที่ดิน 144 ไร่เศษ ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2533 โจทก์ จำเลยที่ 1และนายชินร่วมกันทำโครงการพัฒนาที่ดินและจัดตั้งบริษัทเกษตรนิมิต จำกัด โดยโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและถือหุ้นแทนนายชิน ส่วนจำเลยที่ 1 และภรรยา จำเลยที่ 2 และภรรยาจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้น มีโจทก์ที่ 1 และที่ 2เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ วันที่ 11 กรกฎาคม 2533 บริษัทเกษตรนิมิตจำกัด ทำโครงการพัฒนาที่ดินขอกู้เงินจากธนาคารโดยนำที่ดินรวม 8 แปลง โอนเป็นชื่อของบริษัทและจดทะเบียนจำนองเป็นประกันในวงเงิน 1,430,000 บาท เพื่อนำมาพัฒนาที่ดินตามโครงการแต่จำเลยที่ 1 นำเงินไปพัฒนาที่ดินทำถนนตามโครงการเพียง140,000 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,290,000 บาท จำเลยที่ 1กับพวกนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัววันที่ 25 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1ได้รับมอบหมายให้ขายที่ดินรวม 8 แปลง ดังกล่าวข้างต้น เนื้อที่รวม 144 ไร่เศษ เป็นเงิน 3,100,000 บาท โดยเจตนาไม่สุจริตได้ยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก โดยให้จำเลยที่ 2 รับไป 220,000 บาท จำเลยที่ 3 รับไป 1,000,000บาท จำเลยที่ 4 รับไป 100,000 บาท และจำเลยทั้งสี่ได้แจ้งเลิกบริษัทเกษตรนิมิต จำกัด ดังกล่าวหลังขายที่ดิน 8 แปลงไปแล้วโดยไม่สุจริต เมื่อคิดรายรับจ่ายและนำรายจ่ายหักออกจากรายได้แล้วคงเหลือเงินที่จะนำมาแบ่งระหว่างโจทก์จำเลยและนายชิน จำนวน 3,002,700 บาท คิดเป็นรายได้ต่อคนจำนวน1,000,900 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 1,000,900บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า เดิมโจทก์ชักชวนจำเลยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินทั้งหมด เงินลงทุนบางส่วนจำเลยที่ 1ยืมจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 และใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เพื่อเป็นหลักประกัน แล้วก่อตั้งบริษัทเกษตรนิมิตจำกัด โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นโดยโจทก์ไม่ได้จ่ายเงินเลย ที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นแทนนายชินนั้นเป็นการตกลงระหว่างโจทก์กับนายชินเอง จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่รับรอง ต่อมาบริษัทเกษตรนิมิตรจำกัด ได้นำที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาพัฒนาที่ดินและใช้หนี้ค่าที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ออกไปก่อนบางส่วน เมื่อบริษัทขายที่ดินได้จึงนำเงินไปใช้หนี้จำนอง การดำเนินกิจการบริษัทปรากฎว่าไม่มีกำไร จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้ที่จะต้องชดใช้ให้โจทก์ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์นายชิน เพิ่มพูล และจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมลงทุนค้าที่ดินเป็นการเข้าเป็นหุ้นส่วนแล้ว โดยโจทก์และนายชินลงแรงในการติดต่อหาซื้อที่ดิน ต่อมามีการตกลงกันตั้งบริษัทเกษตรนิมิตจำกัด มีการโอนที่ดินซึ่งเป็นส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนให้บริษัทเป็นการลงทุนในบริษัทและผู้เป็นหุ้นส่วนได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส่วนโจทก์ได้ผลตอบแทนการลงแรงเป็นหุ้นในบริษัท 2,000 หุ้น โดยไม่ได้ออกเงิน ซึ่งถือว่าโจทก์ได้ลงเงินในบริษัท ผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นหุ้นส่วนจึงโอนมาเป็นหุ้นในบริษัทแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในฐานะหุ้นส่วนตามสัญญาห้างหุ้นส่วนอีกต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งข้อ 2 ก. และ ข.อ้างเพียงว่า สัญญาห้างหุ้นส่วนยังไม่เลิกกันโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ได้ ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องในฐานะหุ้นส่วนตามสัญญาห้างหุ้นส่วนเพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นหุ้นส่วนโอนมาเป็นหุ้นในบริษัทเกษตรนิมิตร จำกัด อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามฟ้องแล้วแต่อย่างใด ข้อวินิจฉัยข้อนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาว่าสัญญาห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วหรือไม่นั้น ถึงวินิจฉัยไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเพราะไม่ว่าสัญญาห้างหุ้นส่วนจะเลิกกันหรือไม่ก็ตามสิทธิเรียกร้องในผลประโยชน์จากสัญญาห้างหุ้นส่วนของโจทก์ก็สิ้นไปเนื่องจากโจทก์ได้ผลประโยชน์นั้นเป็นหุ้นในบริษัทเกษตรนิมิตจำกัด ไปดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นนี้ทั้งหมดแก่โจทก์