คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทำให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ตามคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนและมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงยังมิได้สิ้นสุดลงไป และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเป็นประการใดแล้วเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสาม เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงยังต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 และมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549
วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้รวม 8 อันดับ เป็นเงิน 4,021,680,960.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยหลายอัตราของต้นเงิน 1,827,634,323.44 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2547 เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอลดยอดหนี้ต้นเงินเป็น 907,517,070.47 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาต
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 เป็นจำนวน 817,308,587.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราขึ้นลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจากต้นเงิน 108,049,098.27 บาท 79,630,500 บาท 21,278,277.48 บาท 148,510,000 บาท 38,659,947.73 บาท และ 50,013,958.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จในฐานะเจ้าหนี้ประกันในมูลหนี้อันดับที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 และมีเงื่อนไขในมูลหนี้อันดับที่ 4 ถึงที่ 6 ว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ชั้นต้นไปแล้วเพียงใดให้สิทธิได้รับชำระหนี้คดีนี้ลดลงเพียงนั้น และในมูลหนี้อันดับที่ 5 ให้ได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนไม่เกินวงเงินที่ลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดชอบจำนวน 220,000,000 บาท ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสียตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 (3)
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในวันนัดพิจารณาว่า ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 อำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินจึงตกเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีแทนลูกหนี้อีกต่อไป ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความคืนค่าคำร้องให้แก่เจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์จากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้บางส่วน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีเพียงว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ศาลล้มละลายกลางยังจำต้องพิจารณาสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อไปหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 บัญญัติว่า แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทั้งนี้ตามมาตรา 90/27 ทั้งเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว มาตรา 90/75 บัญญัติว่า “คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว…” เช่นนี้แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทำให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ตามคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงยังมิได้สิ้นสุดลงไป และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเป็นประการใดแล้วเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/32 วรรคสาม เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงยังต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อไป การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความทันทีโดยมิได้ไต่สวนพยานของเจ้าหนี้ก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ให้ศาลล้มละลายกลางนัดพิจารณาคำร้องของเจ้าหนี้แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลล้มละลายกลางรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share