แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 รับจ้างรักษาความปลอดภัยบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่กำหนดรวมทั้งลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยกำหนดให้ต้องรักษาความปลอดภัยด้านโจรกรรม และดูแลรถของลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 จะจัดให้มีพนักงานประจำที่ทางเข้าลานจอดรถเพื่อคอยมอบบัตรผ่านลานจอดรถและเขียนหมายเลขทะเบียนกำกับไว้ก่อนมอบให้ผู้ที่จะนำรถเข้ามาจอด เมื่อจะนำรถออกผู้ขับรถจะต้องคืนบัตรผ่านลานจอดรถและชำระค่าบริการจอดรถให้แก่พนักงานที่ประจำทางออกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงขับรถผ่านออกไปได้ ก. และ ว. ผู้เอาประกันภัยได้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดในลานจอดรถของอาคารดังกล่าว และได้รับบัตรผ่านลานจอดรถจากพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้จึงมีผู้นำรถยนต์พิพาทผ่านออกจากลานจอดรถได้ โดยที่บัตรผ่านลานจอดรถและหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยังอยู่กับ ว. ผู้เอาประกันภัย เหตุที่รถยนต์ของ ว. ผู้เอาประกันภัยสูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ไม่เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ในบัตรผ่านลานจอดรถและไม่ตรวจสอบหลักฐานให้ละเอียดรอบคอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำรถออกไป เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถ ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้รถยนต์ของ ว. ผู้เอาประกันภัยสูญหาย ถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย
เงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถที่ว่า การออกบัตรนี้ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถ บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายต่อรถใด ๆ ทั้งสิ้นเป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัย โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ว-9952 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาววราภรณ์ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับจ้างรักษาความปลอดภัย เฝ้ารักษาทรัพย์สินและเป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดูแลเฝ้ารักษาทรัพย์สิน ตลอดจนฟ้องกันการลักทรัพย์และการโจรกรรมทรัพย์สินต่าง ๆ ในบริเวณลานจอดรถของอาคารศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับบริหารควบคุมและอาคาร และเป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้มีหน้าที่บริหารควบคุมดูแลความสะอาด ความปลอดภัย ตลอดจนดูแลทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในอาคารศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจด้านห้างสรรพสินค้าและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดหาวิธีการเฝ้ารักษารถยนต์ของลูกค้าของห้างร้านในอาคารเพื่อไม่ให้เกิดการสูญหายหรือถูกโจรกรรม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2537 นายเกษมได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถของอาคารศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เพื่อซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าซึ่งตั้งอยู่ในอาคารดังกล่าว โดยได้รับบัตรผ่านลานจอดรถเลขที่ 480209 จากพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฝ้ารักษาทรัพย์สินต่าง ๆ ตลอดจนดูแลป้องกันการลักทรัพย์และหรือการโจรกรรมทรัพย์สินต่าง ๆ ในบริเวณลานจอดรถโดยได้ล็อกประตูรถและขึ้นเบรกมือไว้ เวลา 18.15 นาฬิกา นายเกษมกลับมายังที่จอดรถไว้ ปรากฏว่ารถยนต์ได้สูญหายไป ทั้งที่บัตรผ่านลานจอดรถยังอยู่ที่นายเกษม การที่รถยนต์สูญหายไปเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถโดยเคร่งครัด โดยปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์นำรถยนต์ออกไปจากอาคาร ทั้งที่ไม่มีบัตรผ่านลานจอดรถไปแสดงและคืนจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในการละเมิด โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยไปจำนวน 230,000 บาท เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายและได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้รับผิดแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินและดอกเบี้ยจำนวน 240,062 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 230,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่รถยนต์สูญหายมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานจำเลยที่ 1 บัตรผ่านลานจอดรถมีรายละเอียดเงื่อนไขปรากฏอยู่อย่างชัดเจน บุคคลที่นำรถยนต์เข้าออกย่อมทราบดีและยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความกฎหมายลักษณะฝากทรัพย์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การในทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 เรื่องฝากทรัพย์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จริง มีหน้าที่ควบคุมดูแลด้านความสะอาดความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ของผู้ที่เข้ามาในอาคาร รถยนต์มิได้สูญหายที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 กรกฏาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (13 กุมภาพันธ์ 2538) ต้องไม่เกิน 10,062 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีนี้เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า รถยนต์คันเกิดเหตุสูญหายไป เนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า นายอนันตเดชกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 2 รับจ้างรักษาความปลอดภัยบริเวณภายในและภายนอกอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ตามสำเนาหนังสือสัญญาจ้างเหมา สัญญาดังกล่าวกำหนดขอบข่ายงานตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามข้อ 3.1 ต้องรักษาความปลอดภัยด้านโจรกรรม และข้อ 3.5 ว่า ต้องดูแลรถของลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 จะจัดให้มีพนักงานประจำที่ทางเข้าไปลานจอดรถเพื่อคอยมอบบัตรผ่านลานจอดรถและเขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ก่อนมอบให้ผู้ที่จะนำรถเข้ามาจอด เมื่อจะนำรถออกผู้รับรถจะต้องคืนบัตรผ่านลานจอดรถและชำระค่าบริการจอดรถให้แก่พนักงานที่ประจำทางออกให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงขับรถผ่านออกไปได้ วันเกิดเหตุ นายเกษมและนางสาววราภรณ์ได้นำรถเข้าไปจอดในลานจอดรถของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และได้รับบัตรผ่านลานจอดรถจากพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ จึงมีผู้นำรถยนต์พิพาทผ่านออกจากลานจอดรถได้ โดยที่บัตรผ่านลานจอดรถและหลักฐานการเป็นเจ้าของรถยังอยู่กับนางสาววราภรณ์ แสดงให้เห็นว่า เหตุที่รถยนต์ของนางสาววราภรณ์สูญหายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ไม่เขียนหมายเลขทะเบียนรถกำกับไว้ในบัตรผ่านลานจอดรถและไม่ตรวจสอบหลักฐานในละเอียดรอบคอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำรถออกไปเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถ ถือได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้รถยนต์ของนางสาววราภรณ์ที่นำมาจอดไว้ในลานจอดรถของจำเลยที่ 3 สูญหาย ถือได้ว่าพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรผ่านลานจอดรถว่า การออกบัตรนี้ไม่ใช่เป็นการรับฝากรถบริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายต่อรถใด ๆ ทั้งสิ้น เห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวจำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการกระทำละเมิดของพนักงานที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน