แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1 ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่แล้วได้วินิจฉัยในตอนต้นว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วแต่วินิจฉัยในตอนต่อมาว่าการขัดคำสั่งของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณเป็นการฟังว่าโจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลย คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการฟังข้อเท็จจริงเป็นสองอย่างขัดแย้งกัน จึงไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ศาลฎีกาจะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อกฎหมายเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายจึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเสียใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 51,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว แต่จากคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล.9 ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องใดหรือทุกเรื่อง และพยานจำเลยซึ่งนำสืบผู้รับมอบอำนาจเพียงปากเดียว ก็ไม่ปรากฏว่าพยานปากนี้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำผิดของโจทก์อย่างไร คำพยานจึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และการขัดคำสั่งของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณ จำเลยเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน17,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 51,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 2 ข้อ คือ ข้อ 1 โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยหรือไม่ โดยประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในตอนต้นว่า โจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว แต่คำวินิจฉัยในตอนต่อมาที่ว่าการขัดคำสั่งของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณนั้น เป็นการฟังว่าโจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ดังกล่าวเป็นการฟังข้อเท็จจริงเป็นสองอย่างขัดแย้งกัน ศาลฎีกาจึงไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะนำมาวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย โดยที่ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเสียเองได้จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 เสียใหม่ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 56”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี