คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11408/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุว่า โจทก์ตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงของสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2539 ในวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 460,000 บาท การค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวหากผู้กู้เบิกใช้ไม่เต็มวงเงินตามสัญญาจนเป็นเหตุให้ไม่มีสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกัน หรือสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันลดลง ให้ถือว่าหนังสือค้ำประกันนี้เป็นอันสิ้นผลโดยทันที หรือให้ถือว่าวงเงินค้ำประกันตามวรรคแรกลดลงตามส่วนตามแต่กรณีไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันไว้จำนวน 540,000 บาท ชำระต้นเงินไปแล้วจำนวน 350,000 บาท คงเหลือต้นเงินจำนวน 650,000 บาท สินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันย่อมลดลงตามส่วนจากยอดต้นเงินคงเหลือจำนวน 650,000 บาท โดยนำหลักประกันที่จดทะเบียนจำนองไว้จำนวน 540,000 บาท มาหักออกจากยอดต้นเงินคงเหลือตามที่สัญญาค้ำประกันระบุไว้เป็นหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน 110,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามจำนวนหนี้ที่สัญญาค้ำประกันกำหนดไว้เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 514,128.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 497,071.92 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 497,071.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548) ต้องไม่เกิน 17,057.05 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 350,000 บาทให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปแล้ว คงเหลือต้นเงินจำนวน 650,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระ แต่โจทก์กลับชำระต้นเงินจำนวน 325,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยถึงวันยื่นคำขอรับค่าประกันชดเชยจำนวน 172,071.92 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 497,071.92 บาทให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแทนจำเลยที่ 1 โดยทางพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาเป็นไปเลยว่าเหตุใดโจทก์จึงต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันแล้วมีข้อความระบุว่าโจทก์ตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงของสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2539 ในวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 460,000 บาท การค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวหากผู้กู้เบิกใช้ไม่เต็มวงเงินตามสัญญาจนเป็นเหตุให้ไม่มีสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกัน หรือสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันลดลง ให้ถือว่าหนังสือค้ำประกันนี้เป็นอันสิ้นผลโดยทันที หรือให้ถือว่าวงเงินค้ำประกันตามวรรคแรกลดลงตามส่วนตามแต่กรณีไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 1,000,000 บาทและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันไว้จำนวน 540,000 บาท ชำระต้นเงินไปแล้วจำนวน 350,000 บาท คงเหลือต้นเงินจำนวน 650,000 บาท สินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันย่อมลดลงตามส่วนจากยอดต้นเงินคงเหลือจำนวน 650,000 บาท โดยนำหลักประกันที่จดทะเบียนจำนองไว้จำนวน 540,000 บาทมาหักออกจากยอดต้นเงินคงเหลือตามที่สัญญาค้ำประกันระบุไว้เป็นหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน 110,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามจำนวนหนี้ที่สัญญาค้ำประกันกำหนดไว้เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น โดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share