คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5650/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจออกข้อบังคับสำหรับกรมตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและบังคับการให้เป็นไปตามนั้น นั้น ตามบทบัญญัติมาตรานี้ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรออกข้อบังคับเพื่อควบคุมบรรดาพนักงานทั้งหลายในกรมศุลกากรในฐานะอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้บังคับบัญชาเท่านั้น มิได้ให้อำนาจออกระเบียบปฏิบัติกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประเมินราคาของโดยไม่คำนึงถึงบทกฎหมายมาตราอื่น ดังนั้น คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2527 จึงจะนำมาเป็นข้อกำหนดในการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์เพียงลำพังไม่ได้ จะต้องปฏิบัติตามบทวิเคราะห์ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เป็นหลัก และที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2464มาตรา 13 ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากรเป็นผู้ทำการตีราคาของเพื่อประเมินภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตีราคาก็จะต้องนำหลักเกณฑ์ตามบทวิเคราะห์ในมาตรา2 วรรคสิบสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปฏิบัติ จะตีราคาตามอำเภอใจไม่ได้ ส่วนคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 47/2531 คำสั่งกองประเมินอากร ที่ 12/2519 คำสั่งร่วมกองพิธีการและประเมินอากรและกองวิเคราะห์ราคา ที่ 1/2527 และที่ 2/2527 และรายงานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาเกี่ยวกับราคาก็เป็นระเบียบปฏิบัติภายในของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ว่าราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ตีหรือประเมินไปนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดยังไม่ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำราคาอะไหล่ยานยนต์ประเภทและชนิดเดียวกัน ณ เวลาและสถานที่ที่นำของเข้ามาจากที่เดียวกันมาเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมไม่อาจหักล้างได้ว่าราคาสินค้าตามที่โจทก์ที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้งนี้ ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1ได้สำแดงราคาในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวตรงกับราคาที่ปรากฏในใบกำกับสินค้า และราคาดังกล่าวเป็นราคาเดียวกันกับราคาที่โจทก์ที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งตรงกับราคาสินค้าในสัญญาซื้อขายและตรงกับราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าที่บริษัทผู้ขายส่งมาให้ ทั้งไม่ปรากฏว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ได้มีการหักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด ราคาที่โจทก์ที่ 1 สำแดงจึงถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดสะพานควายอะไหล่ และนายเกรียงศักดิ์ อิสสระชัยยศ ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับเรียกกรมศุลกากรและกรมสรรพากรว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ราคาสินค้าที่โจทก์ที่ 1 ซื้อและสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ให้เพิกถอนการประเมินราคาสินค้าเพิ่ม และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่โจทก์ที่ 1 วางประกันจำนวน 438,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระคืนแก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ทำการประเมินราคาสินค้าบางรายการ และหรือทุกรายการเพิ่มขึ้นทั้งหมดเป็นการประเมินตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 แล้ว การประเมินจึงชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลังจำเลยทั้งสองฟ้องขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 17,224,575.01 บาท และให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากต้นเงินอากรขาเข้า9,583,437 บาท เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือนหรือเศษของเดือน จากต้นเงินภาษีการค้า 2,901,013 บาทเป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า
โจทก์ทั้งสองให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์ที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทุกฉบับเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องเสียภาษีอากรเพิ่มให้แก่จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1เฉพาะอากรขาเข้าในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 223/2532 และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ 2/2533 เฉพาะการประเมินอากรขาเข้าให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระภาษีการค้าและเงินเพิ่ม กับภาษีบำรุงเทศบาล ตามฟ้องในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 2/2533 แก่จำเลยทั้งสอง คำขอท้ายคำฟ้องทั้งสองสำนวนนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีนายพินิจนิ่มตระกูล เจ้าหน้าที่ประเมินอากร 6 กองพิกัดอัตราศุลกากรกรมศุลกากร เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ประเมินราคาและพิกัดอัตราศุลกากรตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทั้งสิบห้าฉบับของโจทก์ที่ 1 โดยอาศัยหลักเกณฑ์ในคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 28/2527 เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2527 คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 47/2531 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2531 คำสั่งกองประเมินอากรที่ 12/2519 เรื่อง การพิจารณา Price List ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2519คำสั่งร่วมกองพิธีการและประเมินอากรและกองวิเคราะห์ราคา ที่ 1/2527เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการสุ่มตัวอย่างในการพิจารณารายการราคาสินค้า Price List ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2527คำสั่งร่วมกองพิธีการและประเมินอากรและกองวิเคราะห์ราคา ที่ 2/2527เรื่อง ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการสุ่มตัวอย่างในการพิจารณารายการราคาสินค้า Price List ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2527 และรายงานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาเกี่ยวกับราคาครั้งที่ 5/2528 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2528 ข้อ 3.2 คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” นั้น ได้มีบทวิเคราะห์ไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 วรรคสิบสอง ว่า “คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา” แห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณีโดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด”ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 3ได้บัญญัติให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจออกข้อบังคับสำหรับกรมตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและบังคับการให้เป็นไปตามนั้น นั้น ตามบทบัญญัติมาตรานี้ให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรออกข้อบังคับเพื่อควบคุมบรรดาพนักงานทั้งหลายในกรมศุลกากรในฐานะอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้บังคับบัญชาเท่านั้นมิได้ให้อำนาจออกระเบียบปฏิบัติกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประเมินราคาของโดยไม่คำนึงถึงบทกฎหมายมาตราอื่น ดังนั้น คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 28/2527 จึงจะนำมาเป็นข้อกำหนดในการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์เพียงลำพังไม่ได้ จะต้องปฏิบัติตามบทวิเคราะห์ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เป็นหลัก และที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2464 มาตรา 13 ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากรเป็นผู้ทำการตีราคาของเพื่อประเมินภาษีนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตีราคาก็จะต้องนำหลักเกณฑ์ตามบทวิเคราะห์ในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปฏิบัติ จะตีราคาตามอำเภอใจไม่ได้ ส่วนคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 47/2531 คำสั่งกองประเมินอากรที่ 12/2519 คำสั่งร่วมกองพิธีการและประเมินอากรและกองวิเคราะห์ราคา ที่ 1/2527 และที่ 2/2527 และรายงานการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และปัญหาเกี่ยวกับราคาก็เป็นระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ว่าราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ตีหรือประเมินไปนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดยังไม่ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ไม่ได้นำราคาอะไหล่ยานยนต์ประเภทและชนิดเดียวกัน ณ เวลาและสถานที่ที่นำของเข้ามาจากที่เดียวกันมาเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมไม่อาจหักล้างได้ว่าราคาสินค้าตามที่โจทก์ที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้งนี้ปรากฏชัดตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่าโจทก์ที่ 1 ได้สำแดงราคาในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวตรงกับราคาที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าและราคาดังกล่าวเป็นราคาเดียวกันกับราคาที่โจทก์ที่ 1 เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งตรงกับราคาสินค้าในสัญญาซื้อขายและตรงกับราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าที่บริษัทผู้ขายส่งมาให้ทั้งไม่ปรากฏว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ได้มีการหักทอนหรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด ราคาที่โจทก์ที่ 1 สำแดงจึงถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ดังนั้น การประเมินราคาสินค้าเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน

Share