คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5632/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมตามความในมาตรา 4 และ 6 แห่งพระราชบัญญัติ วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 นั้น หมายถึงเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมที่มีสภาพสามารถใช้งานได้หรือชิ้นส่วนของเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมที่อาจนำมาประกอบเข้ากันแล้วสามารถใช้งานได้ จึงจะมีสภาพเป็นวิทยุคมนาคม และมีความผิดได้ หากเครื่องวิทยุคมนาคมนั้นตามสภาพแล้วชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ตลอดไปก็ไม่มีสภาพเป็นวิทยุคมนาคมและไม่มีความผิด สำหรับเครื่องรับส่งวิทยุของกลางไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากมีการถอดอุปกรณ์ชิ้นส่วนในเครื่องออกเป็นเหตุขัดข้องชั่วคราว เมื่อประกอบอุปกรณ์ครบถ้วนก็สามารถใช้งานได้ จึงเป็นเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคม ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4 โทษจำคุกเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วต้องไม่เกินกำหนดตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัตินั้น ใช้บังคับในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมเกี่ยวพันกันและศาลพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน หรือมีการรวมพิจารณาพิพากษาหลายคดีเข้าด้วยกันหรือมีการนับโทษต่อในกรณีที่จำเลยยังไม่พ้นโทษ จำเลยพ้นโทษคดีก่อนแล้วจึงถูกฟ้องคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 251, 252, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ริบของกลาง และคืนเครื่องรับวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้ดวงตราปลอมและทำปลอมเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252, 265อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 252ประกอบมาตรา 251 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 รวม 16 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี เป็นจำคุก 48 ปีและมีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานออกใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 6, 23 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 50 ปี แต่ความผิดกระทงหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 ประกอบมาตรา 251มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 7 ปี จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ริบตรายาง 1 อันกับหนังสือเดินทาง 16 ฉบับ ของกลาง และริบเครื่องวิทยุคมนาคมรับส่งของกลางเพื่อไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข คำขอนอกนั้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 4 บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้…”เครื่องวิทยุคมนาคม”หมายความว่า เครื่องส่งวิทยุคมนาคม เครื่องรับวิทยุคมนาคม หรือเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคม แต่ไม่รวมตลอดถึงเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และเครื่องส่งเครื่องรับหรือเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมด้วยคลื่นแฮรตเซียน ตามลักษณะหรือประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ มี ใช้ นำเข้า ออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมจะต้องมีสภาพสามารถใช้งานได้หรือชิ้นส่วนของเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมที่อาจนำมาประกอบเข้ากันแล้วสามารถใช้งานได้ จึงจะมีสภาพเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมและมีความผิดได้ หากเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมนั้นตามสภาพแล้วชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ตลอดไปก็ไม่มีสภาพเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมและไม่มีความผิด สำหรับเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมของกลางนั้น ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีการถอดอุปกรณ์ชิ้นส่วนในเครื่องออก แสดงให้เห็นว่าการที่เครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมใช้งานไม่ได้เป็นเหตุขัดข้องชั่วคราวเมื่อประกอบอุปกรณ์เข้าครบถ้วนก็สามารถใช้งานได้ เครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมของกลางจึงเป็นเครื่องรับส่งวิทยุคมนาคมตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4 เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตการกระทำของจำเลยเป็นความผิด และวินิจฉัยต่อไปว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตามเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงหนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี” จากบทบัญญัติดังกล่าวศาลจะลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 ได้ต้องเป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมเกี่ยวพันกัน และศาลพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกันหรือมีการรวมพิจารณาพิพากษาหลายคดีเข้าด้วยกัน หรือมีการนับโทษต่อในกรณีที่จำเลยยังไม่พ้นโทษสำหรับคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดลำพูนให้ลงโทษจำคุก20 ปี จำเลยรับโทษมาแล้ว 6 ปี 3 เดือน และได้รับพระราชทานอภัยโทษพ้นโทษแล้ว จำเลยจึงถูกฟ้องเป็นคดีนี้ เป็นกรณีที่ไม่อาจรวมการลงโทษให้จำเลยได้ และไม่มีเหตุพิจารณาพิพากษายกฟ้องเพราะการกระทำของจำเลยทุกกรรมเป็นความผิดอยู่ พนักงานอัยการโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความได้
พิพากษายืน

Share