คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5389/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยยื่นคำแถลงขอหลักประกันคืนต่อศาลชั้นต้น แม้เป็นการยื่นหลังจากคู่ความยื่นฎีกาแล้ว ก็เป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 251 ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติว่าถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอย่างไรแล้วให้คู่ความอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกาได้เลย ฉะนั้นเมื่อจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นชอบที่จะอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 จะอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหาได้ไม่

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตโดยให้จำเลยหาหลักประกันสำหรับจำนวนเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องถึงวันฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์และต่อไปอีก 1 ปี จำเลยได้นำสัญญาค้ำประกันของธนาคาร กสิกรไทย มาวางเป็นหลักประกันต่อศาลชั้นต้นต่อมาศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2534 โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16ตุลาคม 2534 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 จำเลยยื่นคำแถลงขอหลักประกันคืน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2534ว่า โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2534 คดีจึงไม่ถึงที่สุดจึงไม่อนุญาต ยกคำแถลง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยยื่นคำแถลงขอหลักประกันคืนต่อศาลชั้นต้นเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 251 ซึ่งกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งอย่างไรแล้วให้คู่ความอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกาได้เลย ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำแถลงของจำเลย จำเลยจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นมายังศาลฎีกาหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย จึงไม่ชอบ”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share