แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเพียงทำหนังสือยกที่ดินให้กรุงเทพมหานครสร้างโรงพยาบาลโดยยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และจำเลยทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์โดยบอกว่าที่ดินจำเลยติดโรงพยาบาลจำเลยมีสิทธิผ่านได้ ต่อมากรุงเทพมหานคร ไม่ได้ดำเนินการสร้างโรงพยาบาล จำเลยย่อมนำที่ดินไปจำหน่ายอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ สัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยจะให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 52827 บางส่วนแก่โจทก์สัญญาจะให้หรือคำมั่นจะให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะ ไม่อาจปรับบทมาตรา 456 วรรคสองโจทก์ไม่อาจฟ้องร้องบังคับตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาประนีประนอมนั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเลยว่าการที่จำเลยทำสัญญาดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาทและศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นเพียงว่าจำเลยทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมในที่พิพาทแก่โจทก์โดยสำคัญผิดและเป็นโมฆะหรือไม่เท่านั้นฎีกาข้อนี้ของโจทก์เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยจำเลยได้แจ้งว่าได้ยกที่ดินของจำเลย ซึ่งอยู่ติดกันให้เป็นทางสาธารณะทั้งแปลงเพื่อเป็นทางเข้าสู่ที่ดินที่จะซื้อขายกันได้ โจทก์ได้ชำระค่าที่ดินแก่จำเลยไปจนครบแล้ว จำเลยจึงทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ แต่ภายหลังจำเลยไม่ยกที่ดินที่ติดกันให้เป็นทางสาธารณะแต่อย่างใด จำเลยจึงตกลงกับโจทก์ว่าจะแบ่งที่ดินบางส่วนของโฉนดเลขที่ 52827 ด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินของโจทก์ให้โจทก์เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม แต่จำเลยมิได้ไปทำการรังวัดที่ดินแบ่งแยกและจดทะเบียนให้โจทก์เป็นกรรมสิทธิ์รวมแต่อย่างใดขอให้บังคับจำเลยไปทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 52827และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไปจากจำเลยและที่ดินโฉนดเลขที่ 52827 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงแกล้งฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยไปชำระให้เจ้าของที่ดินด้านติดทางสาธารณะสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยลงลายมือชื่อไปเป็นการหลงผิดในสัญญา สัญญานี้จึงใช้บังคับไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ซื้อที่ดินโดยจำเลยหลอกลวงว่า ที่ดินด้านทิศตะวันออกติดทางสาธารณะ เพราะจำเลยยกที่ดินโฉนดเลขที่ 52827 ให้ทางราชการทั้งแปลงจึงไม่มีการจดแจ้งไว้ในสัญญาซื้อขาย เพิ่งทราบภายหลังว่าจำเลยได้เพิกถอนการอุทิศแล้วนำมาออกโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี 2523 แล้วนำไปจำนองตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ตามลำดับภายหลังโจทก์จำเลยหาทางระงับข้อพิพาทตกลงกันทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเอกสารหมาย จ.3 นั้นคงได้ความเพียงว่า จำเลยทำหนังสือมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 52827ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1175 ให้กรุงเทพมหานครสร้างโรงพยาบาลแต่กรุงเทพมหานครยังไม่ได้ดำเนินการต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2528 จำเลยทำสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1175ตามเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์โดยบอกว่าที่ดินจำเลยติดถนนโรงพยาบาลโดยจำเลยมีสิทธิผ่านได้ จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 52827 ไปจำนองประกันหนี้วันที่ 7 ตุลาคม 2529 โจทก์จำเลยทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินโฉนดดังกล่าวทางด้านทิศตะวันตกข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ และจำเลยก็ไม่ได้ระบุในสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้องและในฎีกาแต่ประการใดว่าจำเลยจะให้โจทก์ได้สิทธิในการใช้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 52827เป็นทางสาธารณะหรือออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อจำเลยเพียงทำหนังสือยกที่ดินให้กรุงเทพมหานครสร้างโรงพยาบาล ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กรุงเทพมหานครไม่ได้ดำเนินการสร้างโรงพยาบาล จำเลยย่อมนำที่ดินไปจำหน่ายสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เมื่อพิเคราะห์สัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเอกสารหมาย จ.3 แล้ว เห็นว่าเป็นสัญญาที่จำเลยจะให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 52827 บางส่วนแก่โจทก์สัญญาจะให้หรือคำมั่นจะให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะไม่อาจปรับบทมาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ดังที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 52827 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์หรือเรียกค่าเสียหายตามฟ้องได้ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมเอกสารหมายจ.3 เป็นการระงับข้อพิพาท จึงเป็นสัญญาประนีประนอมนั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเลยว่า การที่จำเลยทำสัญญาดังกล่าวเป็นการระงับข้อพิพาท และศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นเพียงว่า จำเลยทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์ร่วมในที่พิพาทแก่โจทก์โดยสำคัญผิด และเป็นโมฆะหรือไม่เท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน