คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน การที่จำเลยแจ้งโจทก์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2534 ให้โจทก์ออกจากงานในวันที่30 พฤศจิกายน 2534 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างประจำเดือนตุลาคม 2534 เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดการจ่ายสินจ้างครั้งถัดไปคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 แล้ว เมื่อคำบรรยายฟ้องของโจทก์ระบุเพียงว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยให้โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 3 สัปดาห์ และขอให้จำเลยรับผิดชอบเงินเดือนในส่วนที่ชดเชยการไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 16,650 บาท โดยมิได้บรรยายเลยว่าโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีในปีใดบ้าง ปีละกี่วัน ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่แจ้งชัด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,35เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวและพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ จึงไม่ชอบ จำเลยจ้างโจทก์มาจากประเทศอิตาลีโดยออกค่าเดินทางจากประเทศอิตาลีมายังกรุงเทพมหานคร จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างถึงโจทก์โดยเสนอจะให้เงินค่าตั๋วเครื่องบินกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกหรือประเทศยุโรป โจทก์ไม่ตกลงตามเงื่อนไขในข้อเสนอดังกล่าว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าตั๋วเดินทางกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกหรือประเทศยุโรปจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องค่าเดินทางกลับถิ่นที่จำเลยจ้างโจทก์มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 586

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้จ้างโจทก์ให้มาทำงานในประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นโจทก์ทำงานอยู่ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มายังกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ตกลงที่จะจ่ายโบนัสให้แก่โจทก์อีกเป็นจำนวนเงินเดือนรวม 3 เดือน และยังได้ให้โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ3 สัปดาห์ ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม 2534 โจทก์ได้รับจดหมายของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2534 แจ้งให้โจทก์ออกจากงานในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 โดยอ้างว่าผลงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งสองได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและต้องห้ามตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์คือ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับเงินเดือนของโจทก์ 1 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาท, ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายไม่น้อยกว่า 90 วัน เป็นเงิน 150,000 บาท,เงินโบนัสสำหรับปี 2533 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระให้โจทก์ตามสัญญาจ้างเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท, เงินเดือนในส่วนที่ชดเชยการไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 16,650 บาท,เงินค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกหรือประเทศยุโรป จำนวนเงิน 28,000 บาท, ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 695,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31ธันวาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ทำยอดขายเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปตามหน้าที่ของโจทก์ได้ไม่ถึง 25 ล้านบาท โจทก์ได้ส่งโทรสารถึงตัวแทนของของจำเลยที่ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกามีข้อความหยาบแปลเป็นภาษาไทยว่า “รูก้น” เป็นการจงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย สำหรับค่าทำงานในวันหยุดประจำปี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้เป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินโบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปี เงินค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การที่โจทก์ส่งโทรเลขถึงตัวแทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,500,000 บาท และโจทก์ได้เคยเบิกเงินเดือนล่วงหน้าไปจากจำเลยเป็นเงิน 47,531 บาท แต่ยังไม่ได้ใช้คืนนอกจากนี้หลังจากที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่ยอมออกจากบ้านเช่าที่จำเลยที่ 1 เช่าให้โจทก์เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน42,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลไม่ควรรับฟ้องไว้พิจารณา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 50,000 บาท เงินโบนัสจำนวน 120,000บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,666 บาทเงินค่าตั๋วเครื่องบิน จำนวน 28,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าชดเชยจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 15 ตุลาคม 2534) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อแรกเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1จ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน ดังนี้การที่จำเลยที่ 1แจ้งโจทก์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2534 ให้โจทก์ออกจากงานในวันที่20 ตุลาคม 2534 เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้าง เมื่อถึงกำหนดการจ่ายสินจ้างครั้งถัดไปคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ปัญหาเรื่องฟ้องของโจทก์ในเรื่องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ข้อ 2 สรุปได้ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยให้โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 3 สัปดาห์ และคำฟ้องข้อ 7 ได้ขอให้จำเลยรับผิดชอบเงินเดือนในส่วนที่ชดเชยการไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 16,650 บาท จะเห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายเลยว่าโจทก์มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีในปีใดบ้าง ปีละกี่วันทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่4 ธันวาคม 2532 และถูกเลิกจ้างเมื่อปลายปี 2534 ฟ้องของโจทก์ในเรื่องนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่แจ้งชัด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 35เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์นั้นไม่ชอบ
ปัญหาข้อสุดท้ายเรื่องค่าตั๋วเครื่องบินนั้น จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าตามคำฟ้องโจทก์อ้างสิทธิที่จะได้รับค่าตั๋วเครื่องบินตามหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนว่าโจทก์จะต้องไม่เรียกร้องเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด และจะต้องไม่หางานทำในประเทศไทยจนถึงปี 2535 มิใช่สิทธิที่โจทก์จะได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 586 ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูคำฟ้องของโจทก์แล้วเป็นเช่นนั้นจริง และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงตามเงื่อนไขในหนังสือเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกหรือประเทศยุโรปตามที่จำเลยเสนอมาในหนังสือเลิกจ้าง และที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเดินทางขากลับจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 586 คือค่าเดินทางกลับถิ่นที่จำเลยจ้างโจทก์มาซึ่งตามคำฟ้องได้แก่ประเทศอิตาลีนั้น โจทก์ก็มิได้ฟ้องเรียกค่าเดินทางกลับประเทศอิตาลี ดังนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 50,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 1,666 บาท และค่าตั๋วเครื่องบินกลับประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 28,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share